cropped-cropped-edtaro-logo-2.jpg

Cisco จับมือ สสว. ผลักดัน SME ไทยขับเคลื่อน "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น"

Cisco เผยแพร่รายงานดัชนี “ความพร้อมทางด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” (‘APAC SMB Digital Maturity Index’) รายงานดัชนีดังกล่าวได้จัดทำโดยบริษัทวิจัย ไอดีซี (IDC) โดยอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,340 ราย เรื่องความพร้อมด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีใน 4 แง่มุมทางด้านธุรกิจ

  1. การปรับใช้เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน
  2. กลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในองค์กร
  3. กระบวนการ และการกำกับดูแล
  4. ความสามารถในการจัดหา จัดการ และรักษาบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อทำงานด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

จากการพิจารณา 4 แง่มุมดังกล่าว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) ได้ถูกจำแนกว่ามีความพร้อมทางด้านดิจิทัลในระดับ ‘Digital Indifferent’ ซึ่งหมายถึงการดำเนินการทางด้านดิจิทัลเพียงแค่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด แทนที่จะขับเคลื่อนด้วยแนวทางเชิงรุก (proactive tactical approach)

สำหรับเอสเอ็มอีในไทยมีสถิติที่น่าสนใจดังนี้

  • ลงทุนในเทคโนโลยีคลาวด์เป็นอันดับแรก (13.3%) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของการปรับใช้ระบบคลาวด์ทั่วภูมิภาคนี้
  • 12.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า องค์กรของตนกำลังลงทุนในด้านการอัพเกรดซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ด้านไอที
  • 11.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็นหนึ่งในสามเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในการลงทุน

อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีในไทยยังคงประสบปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุถึงอุปสรรคสำคัญๆ เช่น การขาดแคลนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานและข้อมูลลูกค้า (17.9%), การขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและบุคลากร (15.7%) และการขาดแคลนกระบวนการคิดที่เป็นดิจิทัล (digital mind-set) หรือความท้าทายทางด้านวัฒนธรรมภายในองค์กร (14.0%)

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ว่า โครงการของรัฐบาลส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเอสเอ็มอีไทยในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (55.7%) ระบุว่าตนเองรับรู้ถึงโครงการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอี และได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ขณะที่ 32.9% รับรู้ แต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเหล่านั้น

รายงานดัชนีดังกล่าวเสนอคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีในไทยดำเนินการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้รวดเร็วมากขึ้น:

  • ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเปรียบเสมือนการเดินทาง: ไม่ใช่การวิ่งแข่งระยะสั้น แต่เป็นการวิ่งมาราธอนระยะทางไกล เอสเอ็มอีควรจะประเมินความพร้อมของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณา 4 แง่มุมหลักทางธุรกิจที่กล่าวเบื้องต้น และให้ความสำคัญกับโครงการสำคัญๆ เพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้น
  • ลงทุนเชิงกลยุทธ์: เอสเอ็มอีจำเป็นต้องมีกลยุทธ์การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและแผนพัฒนาที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายในเรื่องสำคัญๆ และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่สำหรับการขยายธุรกิจให้เติบโต
  • ปรับใช้ระบบงานอัตโนมัติและระบบดิจิทัล: เอสเอ็มอีควรมองหาหนทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพโดยอาศัยระบบงานอัตโนมัติ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง  นอกจากนี้ ควรจะกำหนดนโยบายเพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับกระบวนการต่างๆ ขณะที่องค์กรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ควรจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงกระบวนการ ผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มความคล่องตัว
  • กระตุ้นการมีส่วนร่วม: การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้บริหารระดับสูง โดยจะต้องเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภายในองค์กร และมอบหมายให้เข้ามาดูแลการดำเนินการแต่เนิ่นๆ และควรจะใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าว เพื่อสร้างวัฒนธรรมของการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนการทำงานร่วมกัน แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จ รวมถึงแบกรับความเสี่ยงตามที่คาดการณ์ไว้
  • ค้นหาพันธมิตรที่ไว้ใจได้: เอสเอ็มอีจำนวนมากประสบปัญหาในการดำเนินกลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ดังนั้นจึงควรมองหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์ สามารถให้บริการคำปรึกษาและการจัดการโครงการ นอกเหนือไปจากความรู้ด้านเทคโนโลยี และควรมองหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีและอีโคซิสเต็มส์ของเอสเอ็มอี

รายงานดังกล่าวย้ำว่ามากกว่า 60% ของเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิกเริ่มปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น และความแพร่หลายของสมาร์ทโฟน  เอสเอ็มอีเหล่านี้กำลังสร้างนิยามใหม่ให้กับประสบการณ์และความคาดหวังของลูกค้า การดิสรัปของธุรกิจ และในบางกรณี อาจสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้นมา โดยใช้ประโยชน์จากการลงทุนและการระดมทุน

ความเห็น

edtaro.com © 2024 All rights reserved