เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน ทุกยุคจะต้องมีศัพท์ฮิตเป็นของตัวเอง และแน่นอนว่าตั้งแต่ยุคคุณทวด คุณปู่ คุณพ่อ คุณน้า เป็นต้นมา ต่างก็ต้องมีศัพท์ฮิตเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 90’s ยุคที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของความเจริญขั้นสุด (สำหรับยุคนั้นน่ะนะ) การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ความสนุก ขนม เกม เทคโนโลยี และเพลงฮิตมากมาย
แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนะธรรมที่มีมาทุกยุคนอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็คงหนีไม่พ้น “คำศัพท์ วลีฮิต” เด็ด ๆ แปลก ๆ ที่ผู้คนต่างนำมาพูดจนฮิตติดปาก แต่ไร้การบัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพื่อการคุยที่ได้อรรถรสและสนุกมากยิ่งขึ้น
แล้วถ้าศัพท์เหล่านั้น เทียบได้กับศัพท์กะเทยที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างในตอนนี้ล่ะ ? ศัพท์เหล่านั้นจะเทียบได้กับคำว่าอะไรบ้างนะ ?
เทพ = ตัวแม่, ตัวมัม, ตัวมารดา
เทพ หรือ Inw (I, N, W) ใช้ชมคนที่เล่น Ragnarok เก่งมาก ๆ เทพจนแสงออก แล้วก็เพี้ยนมาเป็น เมพ, เมพขิง ๆ โดยทั่วไปนิยมใช้เพื่อชมอีกฝ่ายว่าเก่งมาก เช่น ทำงานเก่ง, ทำอาหารอร่อย, ร้องเพลงเพราะสุด ๆ ฝีมือเยี่ยมยอดจนไม่มีคนธรรมดาทั่วไปหน้าไหนเทียบได้ จนต้องยกไปเทียบกับเทพ ในปัจจุบัน ศัพท์ในความหมายเหล่านี้มีการใช้ในหมู่ LGBTQ+ ด้วยคำว่า ตัวแม่ ตัวมัม ตัวมารดา ถ้าจะเพิ่มให้ครบองค์ประชุมเข้าไปอีกหน่อย นิยมเติมคำว่า ตัวคลอดบุตร ลงไปด้วย ให้ความหมายถึงความเทพขั้นสุด ตัวแม่เข้าขั้น ราวกับเป็นผู้ให้กำเนิดสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ปาน นิยมใช้ชม ความงามของอีกฝ่าย
เจ๊งกะบ๊ง, เจ๊งบ๊ง = พัง, เล้งจุ๊ง, เจ๊เล้ง, เจ๊เล้งเทคโอเวอร์
เจ๊งกะบ๊ง หรือ เจ๊งบ๊ง โดยทั่วไปมักใช้พูดถึงอะไรที่เสียแล้วซ่อมไม่ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม หรือความสัมพันธ์ แต่ในปัจจุบันคำนี้ถูกย่อให้สั้นลงมาอีกหน่อย เหลือแค่คำว่า พัง ง่าย ๆ สั้น ๆ แต่ความหมายครบถ้วน ม้วนเดียวจบ กับอีกนัยหนึ่งคือแปลว่า เจ๊ง จริง ๆ เช่น ร้านขายยำของเจ๊กะเทยคนหนึ่ง เปิดเท่าไหร่กะเทยก็ว่าเจ๊เล้งเทคโอเวอร์
ตลกละ = ละอีนังนี่
ตลกละ มักใช้ในกรณีที่อีกฝ่ายแซวอะไรไม่เข้าท่า เช่น วันก่อนผมเห็นพี่ไปกับอีกคนนะ เมื่อวานไม่ใช่คนนี้นี่ หรือทำอะไรที่ไม่สมควรทำ ก็มักจะถูกตอบกลับด้วยคำว่า ตลกละ ในปัจจุบัน เหล่า LGBTQ+ นิยมใช้คำว่า “ละอีนังนี่” หมายถึง คน ๆ นี้มันเป็นอะไรนักหนา จะใช้แค่นี้ หรือจะตามด้วยประโยคเต็มก็ได้ เช่น “ละอีนังนี่มาด่ากูสาระแน” วลีนี้มาจากคลิปอาม่าตบเด็กในตำนาน เนื่องจากอาม่าคุยโทรศัพท์เสียงดังในเขตโรงเรียน แล้วเด็กที่กำลังมีสมาธิอ่านหนังสือขอให้อาม่าคุยเสียงเบาลงหน่อย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ไอ้เบื๊อก = ไม่สมประดี
ไอ้เบื๊อก ใช้ด่าคนที่ตนรู้สึกว่าโง่ หรือทำอะไรไม่เข้าท่า โดยผู้พูดมักมีอารมณ์เซ็งสุดขีดขณะพูด เช่น สั่งน้ำส้มมันเอาโอเลี้ยงมาให้อีกแล้ว ไอ้เบื๊อกเอ๊ย หรือ เจอคนที่กำลังทำอะไรโง่ ๆ อยู่
ปัจจุบัน เหล่า LGBTQ+ นิยมใช้คำว่า “ไม่สมประดี” เพื่อแสดงความรู้สึกถึงพฤติกรรมไม่เข้าท่าของอีกฝ่าย เช่น การมโนเป็นตุเป็นตะว่าตนเป็นแฟนสาวของดาราดัง
โหล่, โหลยโท่ย, กาก = ไม่จึ้ง, ไม่เริ่ด
ถ้าพูดถึงวลีดังในตำนาน ยังไงก็ต้องมี 3 คำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า กาก ที่นิยมใช้กันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยทั่วไปก็ให้ความหมายตรงตัวเลย คือ ไม่ดี ไม่โอเค ปัจจุบันเหล่า LGBTQ+ นิยมใช้คำว่า ไม่จึ้ง, ไม่เริ่ด ให้ความหมายถึงความห่วยแตกขั้นสุด
จ๊าบมาก, เริ่ดสะแมนแตน = เริ่ด, เลอค่า
โลกคู่ขนานของวลีข้างบน แต่ก่อนคำว่าจ๊าบ กับเริ่ดสะแมนแตน ถือว่าเป็นคำที่ทันสมัยมาก ใครไม่พูดคือตกขบวนสุด มีความหมายตรงตัวคือ สิ่งที่ดีงามมาก ๆ ในปัจจุบัน เหล่า LGBTQ+ นิยมใช้คำว่า เริ่ด ที่เป็นคำตรงตัว หรือใช้เป็นคำว่า เลอค่า
โดยคำว่า เลอค่า ได้รับความนิยมมาจากเน็ตไอดอลสายบันเทิงแห่งโลกอินเทอร์เน็ต เพชร ปากปลาร้าหน้าเป๊ะ
ขี้จุ๊เบ่เบ๋ = ตอแหลอีจั๋นดาน, หวาน
หนึ่งในวลีเด็ดยุค 90’s จะลืมคำว่า ขี้จุ๊เบ่เบ๋ไปไม่ได้ โดยวลีนี้ได้รับความยิยมจากเพลง มาทำไม ของ เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์ ที่ได้ขับร้องร่วมกับ จินตรา พูนลาภ, แคทลียา อิงลิช และ นัท มีเรีย โดยวลีดังกล่าวทาจากท่อนร้องภาษาเหนือของ แคทลียา อิงลิช ที่มีความหมายถึงผู้ชาย (เบิร์ด) เป็นคนเจ้าชู้และขี้โกหก และด้วยความที่เพลงนี้ได้รับความนิยมสูงมาก (ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ชั้นอนุบาล จำได้ว่าโรงเรียนจะชอบเปิดทุกวันหลังเข้าแถว เปิดต่อจากเพลงพระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง) ท่อน ขี้จุ๊เบ่เบ๋ เลยได้รับความนิยมมากอย่างช่วยไม่ได้
ปัจจุบัน เหล่า LGBTQ+ ได้บัญญัติศัพท์ใหม่คือคำว่า ตอแหลอีจั๋นดาน หรือ ตอแหลอีสันดาน บ้างก็พูดสั้น ๆ ว่า หวาน หรือประโยคเต็ม หวานตอแหลนะ
ตามจริงประโยคนี้ไม่ได้มาจาก LGBTQ+ ซะทีเดียว แต่มีจุดเริ่มต้นมาจาก หนูรัตน์ เน็ตไอดอลสายฮาชื่อดัง (ที่ปัจจุบันผันมาขายสวย เป็นพรีเซนเตอร์ให้คลินิกศัลยกรรม) ที่มาของประโยคดังกล่าวคือ ในตอนนั้นหนูรัตน์กำลังไลฟ์อยู่ และมีคนมาหลอกด่าผ่านไลฟ์ หนูรัตน์จึงโต้วาทีด้วยประโยคเด็ด ตอแหลอีจั๋นดาน และตามมาติด ๆ ด้วยประโยค Killer หวานตอแหลนะ (คนด่าใช้ Facebook ชื่อหวาน) แต่ด้วยความที่หนูรัตน์ลิ้นไก่สั้น พูดไม่ชัด จึงทำให้วลีมีความเพี้ยน ซึ่งนั่นก็อาจถือว่าเป็นข้อดีที่เหล่า LGBTQ+ มีศัพท์เด็ด ๆ ให้ใช้แบบหลบเลี่ยงการจับกุมของ AI ได้
เด๊ดสะมอเร่ = ตุย, ตุยเย่
เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า That’s Amore ที่แปลว่าความรัก แต่ด้วยความที่ฟังผ่าน ๆ หูมันดันไปจับได้คำว่า เด๊ดสะมอเร่ แถมยังเป็นคำที่เมื่อเอามาใช้ในความหมายเกี่ยวกับความตาย ดันให้ความรู้สึกขำขันและเบาสมอง ปัจจุบันเหล่า LGBTQ+ ใช้เป๋ยคำว่า ตุย หรือ ตุยเย่ แทน จะใช้ในความหมายว่า ตาย (เสียชีวิต) จริงก็ได้ หรือใช้ในความหมายแฝงก็ได้ เช่น ประกวดนางสาวไทยแต่แต่งหน้าออกมาลอยฉ่ำ ตุยมาก หมายถึง ประกวดนางสาวไทยแต่กลับแต่งหน้าออกมาลอยมาก จนดูตลก ทำให้ผู้แต่งดูพังแทนที่จะดูสวย
จ๊าบ = เริ่ด, ความส๊วย, ตัวแม่มาก, เลอค่า, ฉ่ำ, ฉ่ำมาก, ดี๊ย์
เชื่อว่าถ้าสุ่มชายวัยกลางคนเดินมา 10 คน จะต้องมีคนเคยพูดคำนี้ไปแล้ว 11 คน รวมคนถาม
คำว่าจ๊าบ ถือเป็นคำฮิตติดปากพอ ๆ กับคำสามัญในชีวิตประจำวันอย่างคำว่า หิว กิน นอน เลยทีเดียว สมัยก่อนใครที่ถูกชมด้วยคำนี้ต้องตัวแทบจะลอยกันแทบทุกคน ในปัจจุบันหากใครยังพูดคำนี้อยู่อาจโดนมองด้วยสายตาที่คาดเดาไม่ได้ เช่น เขาอาจไม่ได้มองผู้พูดเป็นเด็ก 90’s แต่คือชายวัย 30 ค่อนไปทาง 40 กว่า ๆ ที่ผ่านร้องผ่านหนาวมาพอสมควรแล้ว
ในปัจจุบัน ประโยคเหล่านี้ถูฏแทนที่ด้วยวลีเด็ดจากเหล่า LGBTQ+ อย่างคำว่า เริ่ด, ความส๊วย, ตัวแม่, เลอค่า, ฉ่ำ, ฉ่ำมาก, ดี๊ย์ ใช้ในการชื่นชมความดีงามทั้งหลายในความหมายเดียวกับคำว่าจ๊าบ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างวลีฮิตในยุค 90’s ที่นำมาเทียบเคียงกับศัพท์กะเทยในยุคนี้ แต่ละวลีก็เด็ด ๆ ทั้งนั้น หากนึกอะไรออกเพิ่มเติม จะมาอัปเดตให้อ่านกันอีกครั้งนะคะ หรือถ้าใครนึกวลีเจ๋ง ๆ อะไรออก ที่ในยุคนั้นใช้อีกคำ ยุคนี้ใช้อีกคำ ก็คอมเมนต์บอกกันได้นะคะ