สวัสดีครับ เพื่อนๆ ทุกคน เนื่องจากกระแสของรถ Mini4wd หรือรถที่เรียกกันติดปากว่ารถแดช นั้นร้อนแรงเหลือเกินในช่วงนี้ วันนี้ผมจะมาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของ Chassis ผมจะขอเรียกง่ายๆว่า “โครง” นะครับ เนื่องจากหลายคนที่กลับมาเล่น และคนที่พึ่งเริ่มเล่น จะมีอาการงงเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร แต่ไม่แปลกครับ มันก็ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว ทั้งโครง ทั้งอะไหล่ใหม่ๆ ก็พัฒนาตามกาลเวลา ผมจะอธิบายลักษณะ รวมไปถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละโครง เพื่อให้ชาว Racer ทั้งหลายเลือกโครงได้ตรงกับความชอบของตนเอง
โครงประเภทนี้อยู่ในการ์ตูนเรื่อง “dash yonkuro” ชื่อไทยคือ “แดชจิ๋วจอมซิ่ง” เป็นโครงที่วางมอเตอร์ด้านหลัง โดยโครงตัวนี้นั้นไม่นิยมเอามาเล่นกันแล้ว ส่วนใหญ่จะเก็บสะสมกันมากกว่า เพราะตัวโครงนั้นไม่ค่อยรองรับอะไหล่ในปัจจุบัน และอัตราทดของเกียร์ที่ให้มาคือ 11.2:1 โอโห! เกียร์สูงมาก เท่ากับว่ามอเตอร์ต้องหมุนถึง 11 รอบล้อถึงจะหมุน 1 รอบ ทำให้รถนั้นวิ่งได้เชื่องช้าเหลือเกิน แต่ถ้าทางชันนี่ขอให้บอกมา แชมป์แน่นนอน 🙂
มาต่อกันกับโครงประเภทถัดไป เรียกได้ว่าเป็นโครงพ่อลูกกันก็ว่าได้ นั่นคือ โครง Super 1 และ Super 2 มากับฉายา “เก๋าตั้งแต่รุ่นพ่อ”
มาพูดถึงโครง Super 1 กันก่อน โครงนี้วางมอเตอร์ด้านหลัง มาจากการ์ตูนเรื่อง Let’s & Go ภาค GJC (Great Japan Cup) ชื่อไทย “นักซิ่งสายฟ้า”โครงนี้เคยได้รับความนิยมสูงมากในอดีต ด้วยน้ำหนักที่เบาทำให้ทำความเร็วได้ดี และมีความคล่องตัวสูง แต่โครงนี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน
ปัญหายอดฮิตของโครงเก่าๆ คือ ไม่ค่อยรองรับอะไหล่ในปัจจุบัน และข้อเสียที่ค่อนข้างรุนแรงของโครงนี้ คือ เป็นโครงที่บอบบางเหลือเกิน ชนนิดชนหน่อย ต้องมีแตกมีหักให้เห็น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาในสมัยนั้น เพราะสนามในยุคนั้น จะเป็นสนามที่เน้นความเร็วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากสนามสมัยนี้ ที่มีเนินกระโดดค่อนข้างเยอะ จึงต้องมีความแข็งแรงของตัวรถเข้ามาเกี่ยวข้อง Super 1 จึงได้รับความนิยมน้อยลง แต่… Tamiya เอาใจขาโจ๋ด้วยการปล่อยโครง “Super 2” ออกมา โครงตัวนี้เหมือนเป็นร่างโคลนนิ่งของ Super 1 โดยยังคงเอกลักษณ์ต่างๆ ทั้งรูปร่าง และความสามารถ ให้เหมือนเดิมมากที่สุด และได้แก้ไขจุดอ่อน โดยออกแบบโครงให้มีความแข็งแรงขึ้น วัสดุที่ใช้ทำโครง มีต้องแต่ ABS จนถึง Carbon และเพิ่มจุดยึดต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับอะไหล่ในปัจจุบันได้ โดยรถที่เคยอยู่ในโครง Super 1 บางส่วนถูกนำมา reproduction มาเป็น Super 2 แต่ยังไม่ทั้งหมด อ้อ..เกื่อบลืม บอดี้ของ Super 1 สามารถใส่กับ Super 2 ได้นะจ๊ะ..
ไปกันต่ออย่าได้หยุดพัก ตระกูลต่อมาคือ โครง Super TZ และ Super TZX เรียกข้าว่า”สิงห์ทางตรง”
ทั้งคู่เป็นโครงที่วางมอเตอร์ข้างหลัง จัดเป็นโครงที่แข็งแรง มีความโดดเด่นในทางตรง ด้วยช่วงรถที่ยาวจึงทำให้เพิ่มการยึดได้ดี การโมดิฟายยากพอสมควร แต่ถ้าทำได้ก็เป็นอีกหนึ่งโครงที่ซิ่งเลยแหละ ดูตามรูปแล้วจะเห็นว่ารูปร่างหน้าตาจะคล้ายกันมาก แต่มีข้อแตกต่างกันอยู่ 2 จุดใหญ่ๆคือ
- รูน็อตข้างหน้า TZ จะมี 4 ตัว แต่ TZX จะมี 6 ตัว ซึ่งทำให้การใส่กันชนนั้นง่าย และแข็งแรงขึ้น
- ก้ามปูหลัง TZ จะยึดน็อตได้เพียงตัวเดียว แต่ TZX นั้นยึดน็อตได้สองตัว ซึ่งการนำมาแต่งจะง่ายและแข็งแรงกว่า TZ เพราะกันชน FRP จะใช้การยึดน็อตเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นจะเหมือนกัน สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้
ขอมอบฉายานี้ให้กับโครงต่อไป “VS ซิ่งทะลุมิติ”
มาดูขาซิ่งอีกโครง โครง VS ถูกเป็นโครงที่ซิ่งที่สุด เพราะมีน้ำหนักเบา แต่ก็เป็นโครงที่ค่อนข้างบางและหักได้ง่าย แต่ด้วยข้อดีที่คุ้มค่า จึงยังทำให้ VS ยังเป็นโครงที่นิยมมากในปัจจุบัน
มาถึงพี่บิ๊กของเรากันบ้าง superx และ super xx “ใหญ่กว่าพี่ไม่มีอีกแล้ว”
ทั้งคู่เป็นโครงมีความโดดเด่นเรื่องความสมดุล เพราะฐานล้อที่กว้าง และ ช่วงรถที่ยาว เรียกได้ว่าทั้งใหญ่ทั้งยาว จะไม่ให้สมดุลได้อย่างไร แต่เห็นอย่างงี้ก็มีข้อเสียนะ ด้วยความที่เป็นรถใหญ่ จึงมีน้ำหนักที่มากซึ่งมีผลต่อความเร็ว ไม่ว่าจะทางโค้งหรือทางตรง ก็จะช้ากว่าชาวบ้านเค้าเสมอ คนเซ็ตต้องปวดหัวกันหน่อยแล้วงานนี้
Aero Chassis หรือที่เรียกกันว่า โครงAR “เซ็ทง่ายแต่ร้ายลึก”
ถ้าพูดถึงการแข่งรุ่น Open box โครงนี้นิยมมากๆเลยทีเดียว และเมื่อเอาแต่งแล้วก็ยังคงวิ่งได้ดี แถมยังใส่ถ่าน และเปลี่ยนมอเตอร์ได้โดยไม่ต้องถอดบอดี้ เพราะที่ว่ามานั่นเปิดใต้ท้องรถก็จัดการได้เลยแต่อย่างที่บอกไว้ ในการวิ่งดีที่เหมือนจะไม่มีปัญหานั้นเป็นแค่เปลือกนอก เพราะโครงนี้มีปัญหาเรื่องเฟืองเกียร์ต่างๆ ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากการออกแบบการวางตำแหน่งเฟืองต่างๆไว้ได้ไม่ดีนัก ถ้าผู้เล่นจัดวางเฟืองไม่ดีละก็ หืมมมม… รูดแน่นอน ร้ายลึกมั้ยล่าาา… เจ้าAR
ต่อไปเรามาดู 2 โครงนี้ที่ต้องบอกเลยว่า “เงียบๆ แต่ฟาดเรียบนะครับ”
MS และ MA ทั้งสองเป็นโครงที่วางมอเตอร์ตรงกลาง ลักษณะเด่นของทั้งคู่ ความเงียบ เนื่องจากมอเตอร์กลางจะเป็นมอเตอร์ 2หัว หัวนึงขับเคลื่อนล้อหน้า อีกหัวนึงขับเคลื่อนล้อหลัง จึงไม่ต้องผ่านการทำงานของเพลา ทำให้เสียงนั้นเงียบบบบบ…นุ่มมมม ! และด้วยความเป็นมอเตอร์กลางทำให้น้ำหนักกระจายได้ทั่วรถจึกทำให้เกิด Balance ที่ดี MS เป็นโครงขับกลางรุ่นแรก ข้อดีอย่างที่บอกไปข้างต้น ส่วนข้อเสียของ MS คือการ Maintenance ที่ยากลำบาก เนื่องจากในการแกะมอเตอร์นั้นต้องทำหลายขั้นตอน
ส่วน MA เป็นการผสมผสานระหว่าง MS และ AR ถูกออกแบบมาให้ Easy maintenance พูดง่ายๆก็คือ แก้ข้อเสีย แล้วนำข้อดีมาใช้ จึงกำเนิดเจ้า MA โครงนี้ขึ้นมา
2 โครงสุดท้ายนี้ต้องบอกเลยว่า “ลุงขอวิ่งด้วยนะหนูๆ”
FM และ Super FM เป็นโครงที่วางมอเตอร์ด้านหน้า FM เป็นโครงเก่าพอๆกับโครง Type ซึ่งเหมาะแก่การเก็บสะสม ส่วน Super FM นั้นอายุก็พอๆกับ Super1 ปัจจุบันยังมีคนนำมาเล่นอยู่ ยังพอมีให้เห็นตามรายการแข่งต่างๆ เหตุผลที่มันยังถูกนำมาเล่นนั้น เพราะว่า Tamiya ได้ผลิต Super FM Carbon ออกมา แม้จะไม่รองรับอะไหล่เท่าไหร่นัก ด้วยวัสดุที่ใช้ผลิตโครงนั้นช่างล่อตาล่อใจเหลือเกินผู้เล่นต่างๆจึงพยามดัดแปลงแก้ไขจุดอ่อนกันเพื่อให้คุณลุง Super FM สามารถเฉือดเฉือนกับโครงใหม่ๆ ได้
เป็นไงกันบ้างครับ เหล่า Racer ทั้งหลาย รู้ลักษณะของโครงต่างๆกันไปแล้ว นอกจากที่ว่ามานี้ ยังได้ยินข่าวมาว่า ในปี2016 Tamiya จะมีโครงใหม่มาให้เล่นกันอีกนะจ๊ะ จะเป็นโครงอะไร วางมอเตอร์ตรงไหนเดี๋ยวจะมารีวิวให้ดูกัน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน บ๊าย..บายยย
รูปประกอบ: adriennieto