- วงการร้านอาหารในไทยพร้อมขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศด้วยจำนวนร้านอาหารระดับ ‘2 ดาวมิชลิน’ ที่เพิ่มขึ้น 2 ร้าน, ‘1 ดาวมิชลิน’ 6 ร้าน และ ‘ดาวมิชลินรักษ์โลก’ 1 ร้าน
- รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ มีร้านใหม่ติดโผ 6 ร้าน ในจำนวนนี้ 3 ร้านได้รับการแนะนำในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ เป็นครั้งแรก
- คู่มือฯ ฉบับล่าสุดมีร้านอาหารผ่านการคัดสรรรวมทั้งสิ้น 447 ร้าน เป็นร้านรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ 7 ร้าน, รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ 28 ร้าน, รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ 196 ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected อีก 216 ร้าน
- ในจำนวนร้านหน้าใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับที่ 7 ของไทย 23 ร้านตั้งอยู่ในเกาะสมุยและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่ง ‘มิชลิน ไกด์’ ขยายขอบเขตเข้าดำเนินการสำรวจและจัดอันดับเป็นปีแรก
งานเปิดตัว ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (The MICHELIN Guide Thailand 2024) ซึ่งเป็นคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับที่ 7 ของประเทศไทย มิชลินได้ประกาศรายชื่อร้านอาหารที่คว้ารางวัล ‘ดาวมิชลิน’ (MICHELIN Star) และรางวัลพิเศษอื่น ๆ พร้อมทั้งฉลองความสำเร็จให้แก่บุคลากรมืออาชีพในแวดวงร้านอาหารของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้
คู่มือฉบับล่าสุดบรรจุรายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรรวมทั้งสิ้น 447 แห่ง เป็นร้านที่ได้รับรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ 7 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘1 ดาวมิชลิน’ 2 ร้าน), รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ 28 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 3 ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน), รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ 196 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 29 ร้าน และมาจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน) และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected อีก 216 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 37 ร้าน)
ในจำนวนร้านหน้าใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 7 ของไทย 23 ร้านตั้งอยู่ในเกาะสมุย (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 4 ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected 7 ร้าน) และสุราษฎร์ธานี (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 8 ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected 4 ร้าน) ซึ่ง ‘มิชลิน ไกด์’ ขยายขอบเขตเข้าดำเนินการสำรวจและจัดอันดับเป็นปีแรก
เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก เปิดเผยว่า บรรยากาศโดยรวมของภาคธุรกิจอาหารที่มีชีวิตชีวาและหลากหลายของเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานีซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงามฝั่งอ่าวไทย มีผลิตผลท้องถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ได้คุณภาพและสดใหม่ ผสานหลากวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ช่วยเสริมให้รายชื่อร้านอาหารของคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย มีสีสันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
“ผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์ ได้สัมผัสความหลากหลายในแวดวงร้านอาหารของไทย ทั้งร้านอาหารสไตล์โมเดิร์นที่พยายามก้าวข้ามขอบเขตและขีดจำกัดเดิม ๆ ไปจนถึงแผงขายอาหารริมทางที่พบได้ทั่วไป ความหลากหลายที่โดดเด่นเช่นนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาด้านอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไทย คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 ไม่เพียงสะท้อนถึงประสบการณ์สุดพิเศษดังกล่าวที่ผู้ตรวจสอบของเราได้สัมผัส แต่ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางล่าสุดในแวดวงอาหารของประเทศไทยด้วย”
เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก
แนวโน้มและทิศทางวงการอาหารของไทย: อาหารไทยสไตล์โมเดิร์น, อาหารเพื่อสุขภาพ, การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และบทบาทผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น
ผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์ ซึ่งเดินทางสำรวจและคัดสรรร้านอาหารทั่วประเทศไทย พบว่ามีร้านอาหารไทยสไตล์โมเดิร์นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านเหล่านี้ดำเนินการโดยเชฟรุ่นใหม่อายุน้อยที่ทุ่มเทพลังสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้ามขอบเขตและขีดจำกัดของการประกอบอาหารแบบเดิมสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “อาหารไทยสไตล์โมเดิร์น” นอกจากนี้ จำนวนร้านอาหารอีกประเภทที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ร้านอาหารประเภทที่ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น (Reservation Only) และร้านที่จัดที่นั่งหันหน้าเข้าครัวเพื่อให้นักชิมได้เพลิดเพลินกับการชมทุกขั้นตอนการเตรียมอาหารของเชฟอย่างใกล้ชิด (Counter Dining) ซึ่งนำเสนออาหารเชิงนวัตกรรมและอาหารสไตล์โมเดิร์นเป็นคอร์สประเภท “เมนูชวนลิ้มลอง” หรือ Tasting Menu
กระแสความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในไทย โดยความต้องการที่มีต่ออาหารออร์แกนิก (Organic) และอาหารจากพืช (Plant-Based) เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคใส่ใจในพฤติกรรมการทานอาหารมากขึ้น กระแสรักสุขภาพเช่นนี้ส่งผลให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารออร์แกนิกสูงขึ้น ร้านอาหาร…โดยเฉพาะร้านอาหารระดับหรู…จึงเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองหรือปลูกในท้องถิ่นและให้ความสำคัญกับการผลิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือมีเชฟและผู้ประกอบการผู้หญิงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและผลักดันวงการอาหารทั่วประเทศ
รางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้น 2 ร้าน
ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 มีร้านอาหารคว้ารางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ เพิ่มขึ้น 2 ร้าน โดยได้รับการเลื่อนระดับจาก ‘1 ดาวมิชลิน’ ได้แก่ บ้านเทพา ร้านอาหารไทยร่วมสมัยที่นำแนวคิด Farm to Table มาใช้รังสรรค์อาหารชุด Tasting Menu ซึ่งจัดแต่งอย่างพิถีพิถันสวยงาม โดยเลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลทั้งที่ปลูกเองและที่ปลูกโดยผู้ผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน
และ กา ร้านอาหารอินเดียร่วมสมัยที่ผสานศาสตร์การทำอาหารแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคและการนำเสนอแบบสมัยใหม่ เสิร์ฟอาหารที่ผ่านการปรุงโดยใช้ทักษะและความประณีต ใส่เครื่องเทศอย่างพอเหมาะ ให้รสชาติที่ลุ่มลึกด้วยเนื้อสัมผัสที่แตกต่างและการควบคุมอุณภูมิที่ดี
เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองร้านล้วนดำเนินงานโดยเชฟผู้หญิง คือ เชฟตาม – ชุดารี เทพาคำ แห่งร้านบ้านเทพา และ เชฟการิมา อโรรา แห่งร้านกา ทั้งนี้ บ้านเทพาได้รับรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ จากคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 เพียงปีเดียวหลังจากขึ้นแท่นร้านหน้าใหม่ที่คว้ารางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ จากคู่มือฯ ฉบับประจำปี 2566 ไปครอง ขณะที่กาเป็นร้านอาหารอินเดีย 1 ใน 2 แห่งทั่วโลกที่ครองสถานะ ‘2 ดาวมิชลิน’ อยู่ในปัจจุบัน
รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้น 6 ร้าน
สำหรับรางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ ซึ่งมีร้านใหม่ติดโผ 6 ร้าน ในจำนวนนี้ 3 ร้านได้รับการจัดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ เป็นครั้งแรก ส่วนอีก 3 ร้านได้รับการเลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected
ร้านใหม่ระดับ ‘1 ดาวมิชลิน’ ที่ติดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ เป็นครั้งแรก ได้แก่ อินดี ร้านอาหารอินเดียสมัยใหม่ที่นำเสนอรายการอาหารชุด (Set Menu) ซึ่งจะพานักชิมท่องไปตามแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียผ่านเมนูย่างเตาถ่านเป็นหลัก,
นว ร้านอาหารไทยร่วมสมัยที่นำเสนออาหารภายใต้แนวคิดนวัตกรรม โดยใช้เทคนิคใหม่ในการรังสรรค์อาหารไทยแต่ยังคงรสชาติอาหารภาคกลางดั้งเดิมที่เรียบง่ายทว่าซับซ้อน ร้านนี้เสิร์ฟ Tasting Menu ตามฤดูกาล ซึ่งประกอบด้วยอาหารเรียกน้ำย่อยขนาดพอดีคำ (Finger Food) และอาหารจานหลักแบบสำรับหลายรายการ
และ สำรับสำหรับไทย ร้านอาหารไทยที่นำเสนอ Tasting Menu จากการพลิกแพลงสูตรตำราอาหารหายากให้มีความเป็นไทยโบราณใหม่ตามยุคสมัย ได้รสชาติไทยแท้กรุ่นกลิ่นหอมระคนกัน โดยเมนูของร้านจะปรับเปลี่ยนทุกสองเดือน
ร้านใหม่ระดับ ‘1 ดาวมิชลิน’ ที่เลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected ได้แก่ มีอา ร้านอาหารที่นำเสนออาหารยุโรปสไตล์โมเดิร์นเปี่ยมกลิ่นอายความเป็นเอเชียแบบ 5 หรือ 8 คอร์ส ผ่านเมนู “Taste of Mia” ตามฤดูกาลที่โดดเด่นด้วยรสชาติกลมกล่อมซับซ้อน นอกจากนี้ ยังมีเมนูวีแกนและมังสวิรัติให้เลือก พร้อมทั้งให้บริการจับคู่อาหารกับค็อกเทล ม็อกเทล หรือไวน์,
เรโซแนนซ์ ร้านอาหารที่นำเสนอ Tasting Menu ตามฤดูกาล และนำนักชิมเดินทางผ่านอาหารจานพิเศษซึ่งรังสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่เชฟได้รับจากการเดินทางไปทำงานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่นี่ยังมีบริการจับคู่อาหารกับชา (Tea Pairing) เมื่อแจ้งล่วงหน้าเท่านั้นด้วย
และ วรรณยุค ร้านอาหารที่เสิร์ฟ Tasting Menu อาหารไทยร่วมสมัยตามฤดูกาลซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “ข้าวแกง” หรือ “ข้าวราดแกง” โดยแต่ละคอร์สเลือกใช้พันธุ์ข้าวจากหลากหลายท้องถิ่นทั่วประเทศ
รางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” เพิ่มขึ้น 1 ร้าน รวมเป็น 4 ร้าน
นอกจาก พรุ, Haoma และ จำปา ซึ่งครองรางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” ที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งดำเนินกิจการและมีแนวปฏิบัติประจำวันด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีร้านอาหารร่วมครองรางวัลนี้อีก 1 ร้านในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 ได้แก่ เเฌม บาย ฌอง-มิเชล โลรองต์ ร้านอาหารฝรั่งเศสสุดสร้างสรรค์ที่เชฟและทีมงานให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยไม่เพียงเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ผลิตในไทย แต่ยังตรวจสอบแนวทางปฏิบัติงานในครัวอย่างเข้มงวดสม่ำเสมอ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการขยะ การรีไซเคิล ไปจนถึงโครงการริเริ่มอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
รางวัลพิเศษ 4 รางวัล
MICHELIN YOUNG CHEF AWRADS
MICHELIN Young Chef Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดย “บลองแปง” (Blancpain) แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ รางวัลนี้มอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ของร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่มีทักษะความสามารถโดดเด่น โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ เชฟ “ตาม” ชุดารี เทพาคำ จากร้านบ้านเทพา เชฟตามเป็นเชฟหญิงไทยที่ถือเป็นดาวรุ่งที่มาแรงและมีอนาคตไกล หลังสั่งสมประสบการณ์จากร้านอาหารชั้นนำอย่าง Gaggan, Water Library Group และทำงานในตำแหน่ง Chef de Partie ณ ร้าน Blue Hill at Stone Barns ในนครนิวยอร์ก เธอได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและสร้างปรากฎการณ์น่าทึ่งให้กับแวดวงร้านอาหารในไทยเมื่อร้านบ้านเทพาของเธอก้าวขึ้นคว้ารางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ มาครองในฐานะร้านหน้าใหม่ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2566 และล่าสุดในปีถัดมายังสามารถเลื่อนระดับสู่รางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ ได้สำเร็จ
MICHELIN Opening of the Year Award
MICHELIN Opening of the Year Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารยูโอบี(UOB) รางวัลนี้มอบให้กับบุคลากรและทีมงานซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารใหม่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีแนวคิดที่โดดเด่นในการนำเสนออาหารอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากวงการอาหารในประเทศ สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ วิชชุพล เจริญทรัพย์ เจ้าของร้านนว ร้านอาหารซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2566 และติดอันดับร้านระดับรางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ฉบับล่าสุด โดยคุณณพล จันทรเกตุ หรือ เชฟโจ และคู่ชีวิตของเขา เชฟซากิ ฮาชิโนะ ดูแลในครัว ขณะที่คุณเนย์ วิชชุพล เจริญทรัพย์ ทำหน้าที่ดูแลหน้าร้าน ทั้งสามคนเป็นทีมที่แข็งแกร่ง ร้านนวจึงเป็นร้านที่โดดเด่นและได้รับเลือกให้ครองรางวัล Opening of the Year Award ด้วยการรังสรรค์อาหารไทยภาคกลางรสชาติดั้งเดิมที่ผ่านการตีความใหม่ออกมาในแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ
MICHELIN Service Award
MICHELIN Service Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัลนี้มอบให้สุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การทานอาหารที่ยอดเยี่ยม สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) จากร้านเชฟส์เทเบิล มิสบูร์ชัวส์ผู้จัดการร้านเชฟส์เทเบิล ให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นและดูแลให้บริการอย่างใส่ใจ ความสุภาพและเป็นกันเองของเธอสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นมิตร ขณะเดียวกันบุคลิกความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในฐานะผู้จัดการร้านยังส่งผลต่อการให้บริการของทีมงานอย่างมืออาชีพด้วย
MICHELIN Sommelier Award
MICHELIN Sommelier Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับ “ซอมเมอลิเยร์” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยให้บริการอย่างมืออาชีพ และมีความชำนาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับไวน์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงการจับคู่ไวน์กับเมนูอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ด้านอรรถรสสูงสุด โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ ธนากร บอทอร์ฟ จากร้านอินดี คุณธนากรเป็น “ซอมเมอลิเยร์” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น สามารนำเสนอและแนะนำไวน์ที่คัดสรรมาให้เลือกมากถึง 600 ประเภท ซึ่งรวมถึงไวน์ที่เสิร์ฟเป็นแก้วเกือบ 60 ประเภท โดยจัดทำรายการไวน์พร้อมตั้งคำถามสนุก ๆ ให้ได้ทายและเรียนรู้เกี่ยวกับไวน์ เขาไม่เพียงให้บริการอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง แต่ยังเป็นนักสื่อสารที่ดีในเรื่องไวน์ ทั้งยังไม่เพียงจับคู่ไวน์ได้เหมาะกับอาหาร แต่ยังแนะนำไวน์อย่างใส่ใจและคำนึงถึงรสนิยมของลูกค้า
สรุปจำนวนร้านอาหารที่ได้รับรางวัลจากคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย 2567
- ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน จำนวน 7 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘1 ดาวมิชลิน’ 2 ร้าน)
- ร้านอาหาร 1 ดาวมิชลิน จำนวน 28 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 3 ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน)
- ร้านอาหาร ดาวมิชลินรักษ์โลก จำนวน 4 ร้าน (ติดอันดับเพิ่มขึ้น 1 ร้าน)
- ร้านอาหารรางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จำนวน 196 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 28 ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 4 ร้าน)
- ร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected จำนวน 216 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 37 ร้าน)