ทำความรู้จัก LDAC : เทคโนโลยีที่ทำให้ฟังเพลงความละเอียดสูงแบบไร้สายได้

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่นได้ตัดช่องเสียบหูฟัง 3.5มม. ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนนิยมใช้ออก เสมือนต้องการบังคับให้เหล่าผู้ใช้งานหันไปหาหูฟัง Bluetooth มาใช้งานแทน ซึ่งที่ผ่านมาการฟังเพลงผ่านหูฟัง Bluetooth นั้นให้เสียงได้ไม่ดีเท่ากับการเชื่อมต่อผ่านช่องเสียบหูฟังโดยตรงแต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ LDAC ของ Sony จะทำให้การรับฟังเสียงต่างๆ ผ่าน Bluetooth นั้นดีขึ้นจนเราอาจจะไม่อยากกลับไปเสียบสายอีกเลย

ก่อนเราจะมาเจาะลึกว่า LDAC ทำงานอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับ Sample Rate, Bit Depth, Bit rate กันก่อน ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ใช้ในการอธิบายคุณภาพไฟล์เสียงแบบดิจิตอล และเป็นคีย์สำคญที่ทำให้ Sony ประสบความสำเร็จในการส่งเสียงความละเอียดสูงผ่าน Bluetooth

มาทำความรู้จัก Sample Rate, Bit Depth, Bit rate กันก่อน

ก่อนจะไปลงลึกเรื่อง LDAC เรามารู้จักคำศัพท์เหล่านี้ก่อน ซึ่งจะถูกพูดถึงในบทความต่อไป 

Sample Rate (Hz) : จำนวนจุดของข้อมูลต่อวินาที
โดยแต่ละจุดจะแสดงค่าความถี่ของเสียง ณ เวลานั้นๆ
เมื่อนำแต่ละจุดมาเรียงต่อกันก็จะได้ออกมาเป็นกราฟเสียง ยิ่งจำนวนจุดมาก
เสียงที่ออกมาก็จะยิ่งใกล้เคียงต้นฉบับเท่านั้น

Bit Depth (Bit) : จำนวน bit ที่ใช้สำหรับบันทึก Sample
โดยหากเราแบ่งความถี่สูงสุดและต่ำสุดให้เป็นช่องเล็กๆ เท่าๆ กัน ยิ่ง bit
depth มาก ช่องยิ่งเยอะ กราฟเสียงยิ่งใกล้เคียงต้นฉบับ

Bit-rate (kbps) : จำนวนข้อมูลที่ส่งผ่าน Bluetooth ต่อวินาที
สำหรับไฟล์แบบไม่บีบอัดสามารถคำนวณได้จากผลคูณของ Sample Rate และ Bit
Depth

LDAC คืออะไร

LDAC คือเทคโนโลยีของ Sony ที่ทำให้สามารถส่งสัญญาณเสียงความละเอียดระดับ
Hi-res ผ่านทาง Bluetooth ได้ ซึ่งสามารถทำได้สูงสุดที่ 24 bit, 96KHz
เลยทีเดียว ให้เสียงที่ดีกว่าเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth แบบธรรมดา โดยทาง
Sony โฆษณาว่าถ้าฟังเพลงคุณภาพระดับแผ่น CD เสียงที่ได้จะเหมือนต้นฉบับเลย
และหากฟังเพลงคุณภาพระดับ Hi-res 24 bit
เสียงที่ได้จะมีความใกล้เคียงคุณภาพระดับ Hi-res มาก นอกจากนั้นทาง Sony
ยังร่วมมือกับ Google ใส่ LDAC มาในระบบปฎิบัติการ Android 8 Oreo เลย

 หากฟังเพลงคุณภาพระดับแผ่น CD เสียงที่ออกมาจะไม่มีการลดทอนใดๆ เลย
ในกรณีฟังเพลง Hi-res 24 bit จะให้คุณภาพเสียงที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกันเลย

ในการใช้งาน LDAC เราสามารถเลือกปรับโหมดได้เองตามความต้องการของเราให้เหมาะสมกับการใช้งาน

  1. Quality : เน้นคุณภาพเสียง โดยจะส่งสัญญาณที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุด อาจเจอปัญหาเสียงขาดหรือกระตุกระหว่างใช้งานได้
  2. Normal : โหมดปกติ
  3. Connection : เน้นการเชื่อมต่อและส่งสัญญาณที่เสถียรมากกว่าคุณภาพเสียงที่ได้

 โดยการจะใช้งาน LDAC นั้น จะต้องมีอุปกรณ์ดังนี้

  1. เครื่องเล่นเพลงหรือสมาร์ทโฟนที่รองรับ LDAC
  2. หูฟัง, ลำโพง หรือตัวรับสัญญาณ Bluetooth ที่รองรับ LDAC

เจาะลึกการทำงานของ LDAC

การที่ LDAC สามารถส่งเสียงความละเอียดสูงผ่าน Bluetooth ได้นั้นมีส่วนสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ การทำให้ Bluetooth สามารถส่งข้อมูลได้ถึง 990 kbps และส่วนที่สองคือการบีบอัดข้อมูลเพลงความละเอียดสูงให้ขนาดเล็กลงโดยสูญเสียรายละเอียดน้อยที่สุด

ในการฟังเพลงผ่าน Bluetooth ปกติเราจะส่งข้อมูลที่ 328 kbps เท่านั้น แต่หากต้องการฟังเพลงความละเอียดสูงผ่าน Bluettoth ข้อมูลที่ต้องส่งผ่าน Bluetooth ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงต้องทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้นด้วย การจะส่งข้อมูลให้ได้ถึง 960 kbps ทาง Sony เลือกใช้ Enhanced Data Rate (EDR) ซึ่งเป็นฟังก์ชันของ Bluetooth เองที่มีตั้งแต่ Bluetooth 2.0 เป็นต้นไป

โดยตามสเปคแล้วฟีเจอร์นี้ทำให้สามารถส่งข้อมูลผ่าน Bluetooth ได้สูงสุดถึง 3 Mbps เลยทีเดียว แต่ในทางปฏิบัติสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 1.4 Mbps เท่านั้น ซึ่งความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้โดยสัญญาณยังเสถียรอยู่คือ 1 Mbps ดังนั้นทาง Sony จึงเลือกใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลที่ 990 kbps

EDR เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการใช้งาน LDAC แต่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ผลิตว่าจะใส่มาในชิป Bluetooth หรือไม่
นั่นหมายความว่าอุปกรณ์ที่มี Bluetooth ทั้งหลายทั้งมวลไม่จำเป็นต้องมี EDR เสมอไป ทำให้สมาร์ทโฟนบางรุ่นแม้จะใช้ระบบปฏิบัติการ Android 8 Oreo ก็ไม่สามารถใช้งาน LDAC ได้ เพราะชิป Bluetooth ที่ใส่มานั้นไม่รองรับ EDR

การใช้เพียง EDR เพียงอย่างเดียวสามารถส่งสัญญาณเสียงคุณภาพเท่ากับฟังจากแผ่น CD ได้สบายๆ แต่ยังไม่เร็วพอจะส่งไฟล์เสียงระดับ Hi-Res 24 bit ได้ จึงเป็นที่มาของอัลกอริทึมในการบีบอัดข้อมูลเพื่อคุณภาพเสียงที่ใกล้เคียง

อ้างอิงจากความสามารถในการแยกเสียงของมนุษย์จะแย่ลงเมื่อฟังเสียงที่มีความถี่มากกว่า 16 kHz ขึ้นไป Sony จึงใช้ข้อจำกัดตรงนี้ในการลดขนาดข้อมูล โดยเสียงที่มีความถี่ในช่วงกลางและต่ำซึ่งมนุษย์สามารถรับรู้ได้เป็นอย่างดีจะถูกส่งเป็น 24 bit ปกติ แต่ในช่วงความถี่สูงซึ่งความสามารถในการได้ยินเริ่มแย่ลง ก็จะถูกลดทอนความละเอียดเสียงลงมาเป็น 16 bit และในช่วงความถี่ที่สูงมากๆ เกินกว่าที่มนุษย์จะได้ยินก็จะถูกลดทอนความละเอียดลงเหลือเพียง 8 bit
เท่านั้นเพื่อลดปริมาณการส่งข้อมูล ทำให้เสียงที่ได้ยังมีข้อมูลอยู่ครบทุกช่วงความถี่ แต่ความละเอียดของเสียงในช่วงความถี่สูงๆ ก็จะลดลงเพื่อลดปริมาณข้อมูลที่ต้องส่ง

สรุป

เทคโนโลยี LDAC เป็นเทคโนโลยีที่มาเพิ่มคุณภาพเสียงในการฟังเพลงไร้สายผ่าน Bluetooth ให้ใกล้เคียงกับการใช้สาย ผ่านวิธีการบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กลงมากพอที่การรับส่งข้อมูลบน Bluetooth สามารถกระทำได้เพื่อเสียงที่ดีที่สุด ซึ่งในขณะนี้ LDAC ถือเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth ที่ให้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด แต่จำเป็นต้องใช้คู่กับอุปกรณ์ที่รองรับเท่านั้น ถือว่าเป็นอีกตัวเลือกสำหรับนักฟังเพลงที่ต้องการความสะดวกสบายในการพกพาและได้คุณภาพเสียงไม่แพ้การเสียบผ่านสายแบบเดิมๆ

Source : Sony-asia, Sony, Sony, Mastering The Mix, Musician Friend, av.watch.impress, Android Authority