Toshiba ผลิต LiDAR ขนาดเล็กที่สุดในโลกเพื่อยานยนต์ไร้คนขับ

ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ยานยนต์ไร้คนขับไม่ใช่แค่เรื่องในจินตนาการแต่มันได้เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยอาศัย LiDAR ตรวจจับและวัดระยะทางทำหน้าที่เสมือนดวงตา โดยเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้แล้วในรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนไร้คนขับระดับสาม ซึ่งเป็นระดับชนิดมีเงื่อนไข แต่โตชิบาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอุปกรณ์ LiDAR ที่รองรับระบบขับเคลื่อนไร้คนขับระดับสี่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ โตชิบาได้เผยถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาเครื่องฉายภาพเลเซอร์ขนาดเท่าฝ่ามือที่ขยายระยะการตรวจจับของ LiDAR ออกไปได้ไกลถึง 300 เมตร ซึ่งนับเป็นระยะที่ไกลที่สุดในโลกที่ตรวจจับได้ด้วยความละเอียดของภาพ 1200×84 พิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม นอกจากนั้นอุปกรณ์ LiDAR นี้ยังปรับใช้กับเครื่องฉายภาพได้หลายรูปแบบเพื่อใช้ตรวจจับทั้งในระยะไกลและในมุมกว้าง ดังนั้นอุปกรณ์ LiDAR ใหม่นี้จะช่วยขับเคลื่อนหลายวงการให้รุดหน้ายิ่งขึ้น เช่น วงการยานยนต์ไร้คนขับและการตรวจตราโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเปิดช่องทางสู่การสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ในแวดวงอื่น ๆ

นายอาคิฮิเดะ ไซ นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโส ณ ห้องปฏิบัติการ IoT Edge ห้องปฏิบัติการแพลตฟอร์มข้อมูลและการสื่อสาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์กร โตชิบา คอร์ปอเรชั่น

ระบบ LiDAR ของโตชิบาถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากระบบตรวจจับในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดที่ทำให้มีประสิทธิภาพต่ำลงเมื่อเจอเงื่อนไขต่างๆ เช่น เมื่ออยู่ในที่แสงน้อย หรือไม่สามารถตรวจจับวัตถุเป็นภาพสามมิติได้ชัดเจน รวมถึงกรณีที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ

ยืนยันว่าภาพที่ได้จากอุปกรณ์ LiDAR ชนิดเครื่องฉายภาพสองเครื่อง (ขวา) มีคุณภาพดีกว่าชนิดเครื่องฉายภาพเดียว (ซ้าย)

Toshiba LiDAR สามารถใช้ร่วมกับเครื่องฉายภาพขนาดเล็กเป็นแหล่งฉายลำแสงเลเซอร์ได้หลายเครื่อง จึงช่วยเพิ่มระยะการตรวจจับได้ ด้วยเทคนิคนี้ทำให้โตชิบาสามารถย่อขนาดเครื่องฉายภาพเหลือ 71 ลูกบาศก์เซนติเมตร และทำให้อุปกรณ์ LiDAR โดยรวมมีขนาดเล็กด้วย นอกจากนี้ยังมีการออกแบบแผงวงจรใหม่ให้มีขนาดเล็กลง ช่วยลดขนาดแผงควบคุมมอเตอร์ได้ถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับตัวต้นแบบก่อนหน้า และอาศัยความรู้ด้านการติดตั้งชิ้นส่วนสามมิติในการย้ายตำแหน่งอุปกรณ์และเลนส์

ยานยนต์ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตรวดเร็ว และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตถึงปีละ 42 ล้านหน่วย ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยโตชิบาวางแผนใช้งบประมาณของปี พ.ศ. 2566 ในการเดินหน้าลุยตลาด LiDAR ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมไปถึงหุ่นยนต์และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ