ภาพถ่ายบัตรประชาชนสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง

ประเด็นฮ็อตประจำสัปดาห์นี้คือประเด็น TrueMove H เผลอเปิดสตอเรจบน S3 ออกสาธารณะ ข้อมูลภาพบัตรประชาชนลงทะเบียนเลขหมายหลุดจำนวนมาก ซึ่งหลายๆ เพจได้แสดงความกังวลว่ามิจฉาชีพจะนำรูปถ่ายบัตรประชาชนไปใช้ทำเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเปิดบัญชีธนาคาร เปิดบัตรเครดิต ขอสินเชื่อ ขอเงินกู้ และเรื่องอันตรายต่างๆ นาๆ เรามาดูกันว่าภาพถ่ายบัตรประชาชนที่หลุดมานั้นสามารถสร้างความอันตรายกับเราได้แค่ไหน

ภาพถ่ายบัตรประชาชนบนคลาวด์ที่หลุดนั้นเป็นไฟล์ในรูปแบบ .jpg และ .pdf ซึ่งทุกภาพจะมีข้อความกำกับเอาไว้ว่า “ใช้เพื่อการลงทะเบียนเลขหมายใหม่กับทรูมูฟเอชเท่านั้น”  ซึ่งแแน่นอนว่าต้องมีการลงลายเซ็นต์ประกบเอาไว้บนสำเนาด้วย นั่นหมายความว่าหากมีผู้ประสงค์ร้ายมาดาวน์โหลดข้อมูลบัตรประชาชนดังกล่าวไปใช้งาน ก็จะสามารถกระทำได้เพียงเปิดซิมใหม่หรือเบอร์ใหม่กับทางทรูมูฟเอชเท่านั้น เพราะไม่ได้ระบุให้สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ ตรงนี้ถ้าจะเกิดความเสียหายจริงๆ ก็ตรงที่เราอาจมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มเติมจากเบอร์ที่ถูกเอาภาพถ่ายบัตรประชาชนของเราไปเปิด ตรงนี้แนะนำให้ตรวจสอบผ่านทางแอปพลิเคชั่น True iservice และช่องทางต่างๆ ที่ผู้ให้บริการจัดไว้

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่หลายๆ เพจนำไปตีความต่อว่าข้อมูลหน้าบัตรทำอะไรได้บ้างเช่น

เปิดบัญชีธนาคาร/บัตรเครดิต

กรณีเปิดบัญชีธนาคาร ผู้เปิดต้องไปดำเนินการเองที่สำนักงานธนาคาร ซึ่งในการเปิดบัญชีเจ้าหน้าที่ธนาคารจะต้องให้ลงนามต่อหน้าพนักงาน และพนักงานจะต้องมีการขอบัตรประชาชนตัวจริงเพื่อตรวจสอบด้วย ดังนั้นการเปิดบัญชีจึงเป็นไปได้ยาก
ส่วนเรื่องการเปิดบัตรเครดิต ในปัจจุบันต้องบอกว่ามีการขายบัตรเครดิตผ่านทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์เยอะ ซึ่งจะใช้วิธีการให้แมสเซนเจอร์วิ่งเอกสารไปให้ถึงที่และใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชนในการเปิด ในกรณีนี้หากมีผู้ประสงค์ไม่ดีนำไปขอบัตรเครดิตเพื่อเปิดใช้จริง ก็จะต้องมีเอกสารประกอบอื่นนอกจากบัตรประชาชนอีก อาทิเช่น เอกสารแสดงรายได้ ซึ่งจะต้องตรงกับชื่อเจ้าของบัตรจึงจะสามารถนำมาพิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตได้ ฉะนั้นมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดหรอก

ขอสินเชื่อ/กู้เงิน

กรณีนี้หนักกว่าข้อแรกอีก สำหรับการขอสินเชื่อหรือกู้เงิน ถ้าหากผ่านสถาบันการเงิน จะต้องใช้เอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อมากมาย ทั้งสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน, Statement, วัตถุประสงค์การขอสินเชื่อ, การลงนามให้ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร (ต้องลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่) ฯลฯ ฉะนั้นถามว่าจะเอาไปกู้เงินเนี่ยมันง่ายนักหรอ?

เช็คข้อมูลภาษี

สามารถนำไปตรวจสอบได้จริง แต่ถามว่ามันจะนำไปตรวจสอบให้ได้อะไรล่ะ? มีแค่การแสดงสถานะว่ายื่นภาษีและได้รับคืนหรือยังเท่านั้นเอง

ใช้ยืนยันตัวตน

สำหรับโลกออนไลน์สามารถใช้งานได้แน่นอนเพราะมีข้อมูลหน้าบัตรครบ กรณีนี้จะน่ากลัวที่อาจถูกสร้างบัญชีปลอมมาหลอกคนรู้จักเราให้โอนเงินไปให้ หรือนำหน้าเราไปซื้อขายของออนไลน์แล้วโกง เราเองจะเสียเครดิตนั่นล่ะ แต่วิธีนี้แค่เข้ามาขโมยรูปโปรไฟล์บน Facebook เอาคงจะง่ายกว่า

สรุป

กรณีข้อมูลหลุดเนี่ยทางต้นสังกัดที่เก็บข้อมูลถือว่าผิดจริง แต่หากมีการลงนามกำกับพร้อมเขียนวัตถุประสงค์ชัดเจนแล้วการจะนำไปใช้ต่อกับการทำธุรกรรมอื่นๆ ก็ไม่สามารถกระทำได้ ฉะนั้นอย่างที่บอกไปว่า สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดสำหรับการนำข้อมูลที่หลุดมาใช้คือการเปิดเบอร์ใหม่เท่านั้น นอกเสียจากว่าผู้ประสงค์ไม่ดีจะดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวมา แล้วจัดการตัดต่อรูปภาพ ลบข้อความออก จึงจะสามารถนำไปใช้ต่อได้ แต่จะทำธุรกรรมต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ได้บอกไปข้างต้นครับ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการขอสำเนาเอกสารสำคัญต่างๆ ควรเขียนกำกับลงไปในสำเนาให้ชัดเจนว่าสำเนานั้นไว้สำหรับนำไปใช้ทำอะไร

รูปภาพจาก : Pantip, Wallethub, Kapook, TMB