ทำไม Find My Device ของ Android มีไว้เพื่อปกป้องข้อมูลมากกว่าตามหาเครื่องหาย

Find My Device หรือชื่อเดิมคือ Android Device Manager เป็นบริการจาก Google ที่มีความสามารถตรงตามชื่อคือตามหาอุปกรณ์ของเรา สามารถใช้งานได้ทั้งผ่านเว็บและผ่านแอป แต่มันช่วยเราเวลาโทรศัพท์หายได้ขนาดไหน?

ความสามารถของแอป

ตัวแอปมีความสามารถหลักๆ 4 อย่างคือ

  1. ระบุตำแหน่งอุปกรณ์ Android ของเราว่าอยู่ส่วนไหนของโลก
  2. สั่งให้อุปกรณ์ Android ของเราส่งเสียงแม้เราจะปิดเสียงไว้ก็ตาม
  3. สั่ง Lock หน้าจอด้วยรหัสล็อกหน้าจอ และสามารถตั้งข้อความและปุ่มโทรกลับหาเราให้โชว์ที่หน้า Lockscreen ได้
  4. ลบข้อมูลทุกอย่างในอุปกรณ์ของเรา

ซึ่งบริการเหล่านี้ติดข้อจำกัด 2 อย่างคือ อุปกรณ์ของคุณจะต้องเปิดเครื่องและเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ในกรณีระบุตำแหน่งต้องเปิด Location Services ด้วย ไม่งั้นจะใช้ไม่ได้

มาเข้าเรื่องว่าทำไมบริการนี้ถูกสร้างมาเพื่อปกป้องข้อมูลมากกว่าตามหาเครื่องหายกันดีกว่า ถ้าเราทำเครื่องหายเอง เช่น ทำหล่น หรือทำหายในบ้าน ฟีเจอร์ที่ Find My Device ให้มาก็เรียกได้ว่าเพียงพอแล้ว แต่ถ้าในกรณีที่มันถูกขโมยล่ะ หากเราสำรวจแอปป้องกันและตามหาเครื่องหายอื่นๆ จะพบฟีเจอร์เด็ดๆ ที่มักจะใส่กันคือ

  1. ควบคุมเครื่องด้วย SMS ในกรณีที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต
  2. ถ่ายรูปด้วยกล้องหน้าและส่ง E-mail หาเราอัตโนมัติเมื่อมีคนพยายามปลดล็อกอุปกรณ์ของเรา

เราจะเห็นว่าฟีเจอร์ที่ 2 นั้นเพิ่มโอกาสตามหาเครื่องเจอเยอะกว่าเดิมมากในกรณีที่เครื่องถูกขโมย มีโอกาสได้ทั้งหน้าตาคนร้าย และอาจจะสามารถเดาสถานที่ได้จากสิ่งของต่างๆ ในรูปถ่ายอีกด้วย แล้วทำไม Google ถึงไม่ใส่มาล่ะ?

ถ้ามาดูที่ตัวแอปจาก Google ที่มีการพยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเครื่อง ทั้งคำสั่งล็อกเครื่อง คำสั่งลบข้อมูลในเครื่อง ยิ่งกว่านั้นคือ ระบบความปลอดภัยของ Android เองที่หากใครพยายามล้างข้อมูลเครื่องโดยไม่ปลดบัญชี Google Account ออกก่อน เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาจะไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าจะใส่รหัส และระบบความปลอดภัยที่ต้องใส่รหัสหลังเปิดเครื่องอีก ทำให้การเข้าถึงข้อมูลในเครื่องกลายเป็นเรื่องยากไปเลย ขโมยได้เครื่องไปแล้วจับแยกชิ้นส่วนขายอะไหล่ยังคุ้มกว่า (เราจะไม่พูดถึงการใช้ช่องโหว่ต่างๆ ลัดเข้าระบบที่โดนล็อกนะครับ) ซึ่งมันก็ทำให้เรามองได้ว่า Google ให้ความสำคัญกับข้อมูลในเครื่องมากกว่าตัวเครื่องเอง เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำคัญทุกอย่าง บางคนอาจจะมีภาพลับที่ไม่อยากให้ใครเห็น มีข้อความแชทที่ไม่ต้องการให้ใครอ่าน บางคนอาจจะผูกบัญชีธนาคารไว้กับกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ บางคนอาจจะมีข้อมูลลับของบริษัทอยู่ เรียกว่าถ้าหายแล้ว ขอให้มันหายไปตลอดกาลดีกว่าตกไปอยู่ในมือคนอื่น เครื่องหายซื้อใหม่ได้ แต่ข้อมูลตกไปอยู่ในมือคนอื่นอาจสร้างความเสียหายไม่รู้จบ

ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ Google เลือกปกป้องข้อมูลมากกว่าตามหาเครื่องหาย คือหากคนที่เอาอุปกรณ์เราไปเป็นบุคคลอันตราย การออกตามหาด้วยตัวเองอาจนำพาอันตรายมาสู่ตัวเราแทนที่จะได้เครื่องคืน
และทฤษฎีสุดท้ายคือ ในเมื่อคุณขโมยเครื่องเราไปแล้วได้แค่แท่งที่ทับกระดาษ แทนที่จะเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานได้ สุดท้ายแรงจูงใจในการขโมยจะลดลงเอง จำนวนเครื่องที่หายจากการขโมยก็จะลดลงตาม