ผลสำรวจเพื่อคาดการณ์เทรนด์การท่องเที่ยว ในปี 2566 ของ Booking.com เผยถึงความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้เดินทาง สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเทรนด์ Wellness Tourism ซึ่งเป็นการออกเดินทางเพื่อหาเวลาดูแลตัวเอง ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายและหาความสงบให้กับจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ได้หลีกหนีจากสังคมและชีวิตประจำวันอันแสนวุ่นวายและตึงเครียด เทรนด์ดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของแวดวงการท่องเที่ยวในปีนี้ และผู้เดินทางจะหันมามองหาตัวเลือกการพักผ่อนสำหรับแสวงหาความสุขและความสงบทางกายใจในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจโดย Global Wellness Institute** ยังเผยให้เห็นถึงอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่แซงหน้าธุรกิจเชิงสุขภาพรูปแบบอื่น ๆ ในปี 2566 ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรปรับตัวอย่างไร ให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เดินทาง? เมื่อพวกเขาคำนึงถึง ‘การดูแลตนเอง’ เป็นอันดับต้น ๆ เมื่อถึงเวลาออกเดินทางครั้งต่อไปของพวกเขา
ผู้เดินทางชาวไทย VS การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในปี 2566
จากผลสำรวจล่าสุดของ Booking.com ‘การท่องเที่ยว’ ในปี 2566 จะเบนเข็มไปในทิศทางของการฟื้นฟูและยกระดับ ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของผู้เดินทางมากขึ้น โดยผลสำรวจเผยถึงความคิดเห็นของผู้เดินทางชาวไทย ดังนี้
- 77% ของผู้เดินทางชาวไทยต้องการออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อปรับสมดุลทางจิตใจ และมองหาสถานที่ผ่อนคลายเพื่อการฝึกทำสมาธิเพื่อแสวงหาความสงบและความสุขด้วยตัวเอง
- 65% มองหาทริปพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต โดยมองหาการดูแลสุขภาพกายและใจในรูปแบบใหม่ รวมถึงเวลาในการดูแลตัวเองในช่วงเวลาสำคัญหรือเปลี่ยนผ่านของชีวิต เช่น ทริปพักผ่อนในวัยหมดประจำเดือน หรือทริปพักผ่อนระหว่างตั้งครรภ์
- ขณะที่ 55% ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้ทดลองการบำบัดสุขภาพทางเลือก ด้วยสารจากธรรมชาติ เช่น กัญชา และสารสกัดจากพืชที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่าง อายาวัสกา หรือเห็ดเมา เพื่อสัมผัสประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
โอกาสของแวดวงการท่องเที่ยวในการนำเสนอตัวเลือกด้านการเดินทางเชิงสุขภาพ
จากข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจเพื่อคาดการณ์เทรนด์การท่องเที่ยว ในปี 2566 ของ Booking.com หรือผลสำรวจจาก Global Wellness Instituteต่างให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าในปีนี้การเดินทางเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเหล่าผู้เดินทางจะมองหาตัวเลือกใหม่ ๆ สำหรับการเดินทางประเภทนี้มากขึ้นอีกด้วย นี่จึงเป็นช่วงเวลาและโอกาสครั้งสำคัญที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวจะนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ทำให้ผู้เดินทางได้สัมผัสกับ ‘การดูแลตัวเอง’ และการ ‘ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง’ เพื่อการบำบัดการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ระหว่างการเดินทาง
ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจาก Booking.com ยังเผยให้เห็นถึงความคิดเห็นของผู้เดินทาง ผ่านการรีวิว และการให้คะแนนที่พัก โดยความคิดเห็นเชิงบวกที่ผู้เดินทางมีต่อที่พักแต่ละแห่งนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวก ที่หมายรวมถึงความสะอาด หรือสถานที่ตั้งของที่พัก อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่พวกเขาได้รับจากการเข้าพัก ไม่ว่าจะเป็นการได้ผ่อนคลายกายและใจจากความเครียด หรือความรู้สึกที่ได้รับแรงใจกลับไปหลังจากจบทริปท่องเที่ยวอีกด้วย
โดยโอกาสสำหรับธุรกิจในแวดวงการเดินทาง เพื่อตอบสนองเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรก ได้แก่ บริการหรือข้อเสนอสำหรับผู้ที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการสามารถตอบสนองความต้องของการพวกเขา ด้วยบริการที่ช่วยมอบการพักผ่อนทางกายและใจอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเข้าป่าเพื่อบำบัดและใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ไปจนถึงการท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism) เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มีภาวะขาดการนอนหลับ และกลุ่มที่สอง ได้แก่ บริการหรือข้อเสนอสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลักแต่มองหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างนั้น โดยพวกเขาจะมองหาแบรนด์หรือผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่นำเสนอประสบการณ์พิเศษสำหรับดูแลตัวเองทั้งทางกายและทางใจในรูปแบบต่าง ๆ แฝงอยู่ระหว่างทริปการเดินทางของพวกเขา เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยนักบำบัดออนไลน์สำหรับแขกผู้เข้าพัก เป็นต้น