รีวิว Smart Breaker เปลี่ยนไฟบ้านให้สั่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้

ในยุคที่อุปกรณ์ IoT อยู่ในราคาที่จับต้องได้ ใช้งานง่าย และเห็นประโยชน์ชัดเจน บางทีเราก็อยากจะเปลี่ยนระบบไฟฟ้าเก่าในบ้านให้ฉลาดขึ้น สามารถสั่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานครับ ซึ่งผมเองก็มีอยู่หนึ่งส่วนที่อยากเปลี่ยนคือไฟโรงรถ ที่อยากจะทำให้ตั้งเวลาเปิดปิดได้ และสามารถสั่งงานให้ปิดไฟได้จากนอกบ้านเพื่อความสะดวกในการใช้ครับ ซึ่งหลังจากศึกษาคร่าวๆ มีทั้งหมด 3 ทางเลือกให้ทำ

  1. เปลี่ยนไปใช้โคมไฟอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อสั่งงานทางอินเทอร์เน็ตได้ เป็นทางเลือกที่ง่านแต่ราคาค่อนข้างสูง
  2. เปลี่ยนสวิตช์เปิดผิดไฟเป็นแบบอัจฉริยะ ทางเลือกนี้ดีตรงที่สามารถสั่งเปิดปิดด้วยมือตามปกติได้ด้วย แต่มีปัญหาเล็กๆ คือบ้านผมค่อนข้างเก่า ไม่มีสาย N ไม่เหมาะกับอุปกรณ์พวกนี้
  3. ใช้ Smart breaker สวิตช์ตัดต่อไฟมาคั่นแล้วสั่งงานเปิดปิดตัว Breaker แทน ราคาถูก ติดตั้งง่าย มีข้อเสียคือไม่สามารถสั่งงานด้วยการกดเปิดปิดที่สวิตช์ไฟบ้านปกติได้

แน่นอนครับ ผมเลือกวิธีที่ 3 ครับ โดยเจ้าตัว Smart Breaker มีราคาเพียง 130 บาทเท่านั้น ติดตั้งด้วยตัวเองได้ อาจจะต้องมีความรู้เรื่องงานช่างบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ยากครับ โดยตัวนี้จะใช้งานผ่าน Wi-Fi และควบคุมผ่านแอปในโทรศัพท์เราได้ ใช้ระบบของ Tuya สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ Google Home, Alexa ได้ครับ

วิธีติดตั้งคือเราต้องเอาอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปคั่นกลางระหว่างหลอดไฟของเรากับไฟบ้านตรงไหนก็ได้ สำหรับผมคือเลือกใส่ไว้ในโคมไฟเพดานรวมกับหลอดไฟเลยครับ วิธีติดก็คือให้ทำการสับเบรกเกอร์ไฟบ้านให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นต่อสายไฟจากบ้านเราเข้าด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ต่อเข้ากับหลอดไฟ แล้วทำการสับเบรกเกอร์ให้ไฟกลับมาใช้งานได้ เปิดสวิตช์ไฟให้เรียบร้อย

ขั้นต่อมาให้เราดาวน์โหลดแอป Smart Life มาติดตั้งในมือถือแล้วทำการลอกอินให้เรียบร้อยครับ ใช้งานได้ทั้งบน Android และ iOS

กลับมาที่ตัว Smart breaker ของเรากันต่อ ที่ตัวเครื่องจะมีสวิตช์สีดำๆ อยู่ ให้เรากดค้างไว้ประมาณ 7 วินาที จะเข้าสู่โหมด Pairing ครับ และจะมีไฟสีฟ้ากะพริบ

กลับมาที่แอปใหม่ครับ ตามปกติแอปจะเจออุปกรณ์ใหม่อัตโนมัติเลย แต่ถ้าไม่เจอให้กดเมนูมุมขวาบน เลือก Add new device แล้วกดที่อุปกรณ์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา

เครื่องจะพามาหน้าเลือก Wi-Fi สำหรับเชื่อมต่อกับ Smart breaker ครับ จะรองรับเฉพาะ Wi-Fi 2.4 เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอุปกรณ์ IoT อยู่แล้ว พอเราใส่รหัส Wi-Fi เรียบร้อยก็กดถัดไปได้เลย ตัวแอปจะทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์ สักครู่ก็จะใช้ได้

มาดูกันว่าตัวแอปทำอะไรได้บ้างครับ อย่างแรกก็คือกดเปิดปิดไฟจากมือถือได้เลย เป็นรูปสวิตช์อยู่ในหน้าจอเลย อยู่นอกบ้านก็สั่งงานเปิดปิดได้ครับ

ฟีเจอร์ถัดมาคือการตั้งเวลาเปิดปิดครับ สำหรับคนที่ต้องการให้ไฟเปิดและปิดเองแบบเป็นเวลา

ตัวถัดมาเป็นการตั้งเวลาปิดแบบนับถอยหลัง เช่น อยากให้ไฟเปิดเป็นเวลา 2 ชม. ก็ตั้งได้เลย และมีอีกฟีเจอร์ที่คล้ายๆ กัน แต่อันนี้จะนับถอยหลังเองทุกครั้งที่เราเปิดไฟ เช่น สมมติเราตั้งเวลาไว้ 30 นาที ทุกครั้งที่เราเปิดไฟ ไฟจะปิดเองอัตโนมัติเมื่อครบ 30 นาทีครับ เอาไว้ป้องกันการลืมปิดไฟได้ดีมาก

อันสุดท้ายจะเป็นโหมดสำหรับเวลาไม่อยู่บ้านหลายวัน เราสามารถกำหนดเวลาให้ไฟเลือกเปิดปิดแบบสุ่มได้ จำลองเหมือนมีคนอยู่บ้านที่มีการเปิดปิดไฟใช้แบบสุ่มครับ

ตัวแอปยังมีระบบ Automation ด้วยนะครับ เช่น ของผมตั้งให้เวลาเปิดตามเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดินครับ ถ้าคุณมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ Ecosystem ของ Tuya เหมือนกันก็อาจจะจับพ่วงกันได้ เช่น เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวหรือเซนเซอร์ประตู อาจจะตั้งว่าพอมีการเคลื่อนไหวหรือประตูเปิดก็ให้เปิดไฟอัตโนมัติครับ

นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับ Google Home ได้ด้วยครับ สามารถสั่งงานเปิดปิดผ่าน Google Assistant ได้เลย ส่วนใครที่ใช้ Siri ก็จะมีเทคนิคคือการใช้ผ่าน Siri shortcut เอาได้ครับ

ประสบการณ์ใช้งาน

ตั้งแต่ใช้มาก็ต้องบอกว่าทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นชัดเจนครับ วันไหนกลับบ้านดึก ไฟปิดหมดแล้ว ก็เรียก Hey Google ในมือถือมาสั่งงานเปิดไฟได้เลย เรื่องความดีเลย์ ด้วยการเป็นการสั่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตที่ต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ก่อนก็จะมีดีเลย์นิดนึงครับ แต่ไม่ได้มากมายอะไร ตอนแรกๆ อาจจะมีสะดุดนิดหน่อยตรงที่กดปุ๊บมันไม่ทำงานปั๊บ แต่พอเรารู้จังหวะว่ามันจะต้องรอแค่ไหน เราก็จะชินไปเองครับ เป็นอุปกรณ์ที่แนะนำเลย ใช้แล้วสะดวกจริงๆ