รีวิว Xperia XZ Premium จอ 4K HDR ตระการตา หยุดเวลาด้วย Super Slow Motion

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Sony ได้เปิดตัว Xperia XZ Premium ในงาน Mobile World Congress 2017 ซึ่งเป็นการสานต่อสมาร์ทโฟนระดับพรีเมี่ยมจาก Xperia Z5 Premium ที่เปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนปี 2015 โดยยังคงชูจุดเด่นเรื่องจอ 4K เช่นเดิมเพิ่มเติมคือ HDR พร้อมด้วยฟีเจอร์เด่นอย่างถ่ายวิดีโอ Super Slow Motion ที่ 960 FPS ที่ไม่เคยมีในรุ่นไหนมาก่อน

Xperia XZ Premium

ถึงจะเปิดตัวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์แต่ก็ยังไม่พร้อมขายทันที เพราะงานนี้ Sony ยังผลิตได้ไม่เต็มกำลังเนื่องจากชิปเซ็ต Snapdragon 835 ล็อตแรกได้ถูกบริษัทนึงเหมาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กว่าจะพร้อมออกวางจำหน่ายในประเทศ Tier 1
ก็ปาไปช่วงปลายเดือนพฤษภาคมและกว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยก็ปาไปช่วงกลางเดือนมิถุนายนแล้ว
จนเวลาผ่านไปร่วมเดือนกว่าในที่สุดเครื่องรีวิวก็ได้มาถึงมือทีมงาน NuaNia สักที แต่ไหน ๆ ก็คงปั่นรีวิวไม่ทันเว็บอื่น ๆ แล้ว
งานนี้เลยขอรีวิวแบบเจาะลึกให้ได้มากที่สุดว่า Xperia XZ Premium เครื่องนี้มีดีอย่างไรบ้างและมีความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้ามากน้อยแค่ไหน โดยรีวิวฉบับนี้จะเป็นการร่วมมือกับทีมงาน Xperism ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Xperia โดยเฉพาะ
ก่อนที่จะไปเข้ารายละเอียดผมขอเกริ่นถึงความเป็นมาสักเล็กน้อยให้อ่านกันเพลินๆ ถ้าใครไม่อยากเสียเวลาให้ข้ามพารากราฟข้างล่างไปได้เลยครับ

Xperia Z5 Premium สมาร์ทโฟนรุ่นแรกในตระกูล Premium

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2015 Sony ได้ทำการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ตระดับเรือธง 3 รุ่น ได้แก่ Xperia
Z5, Xperia Z5 Compact และ Xperia Z5 Premium ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่เพราะเป็นการเปิด segment ที่สูงกว่า flagship ขึ้นไปอีก นั่นก็คือ segment premium โดยชูจุดเด่นเรื่องจอ 4K ครั้งแรกบน Smartphone แต่กาลเวลาเปลี่ยนไปความเปลี่ยนแปลงย่อมบังเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา (2016) Sony ก็ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูล Xperia X และประกาศยุติบทบาทของตระกูล Xperia Z ลง (สิริอายุตลาดรวม 3 ปีโดยประมาณ) โดยมี Xperia XA, Xperia X และ Xperia X Performance นำร่องมาก่อน 3 รุ่น โดยไร้วี่แววการปรากฎตัวของสมาร์ทโฟน segment premium และ compact หลังจากที่วางจำหน่ายไปแล้วยอดขายของสมาร์ทโฟนตระกูล Xperia X ก็ไม่ได้ดีมากนัก เนื่องจากไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าที่ควรรวมไปถึงกระแสบ่นจากบรรดาสาวกที่ติดชื่อ Xperia Z ไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นานในงาน IFA 2016 Sony ก็ได้ประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟน 2 รุ่นนั่นก็คือ Xperia X Compact และ Xperia XZ โดยเป็นการกลับมาของ segment compact อีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนานเกือบหนึ่งปีเต็ม
รวมถึงการหักปากกาเซียนทั้งหลายที่เก็งชื่อเรือธงรุ่นต่อไปด้วยการจับชื่อ Xperia X กับ Z มาปนกันซะเลยจนกลายเป็น Xperia XZ
โดยงานนี้ยังคงไร้วี่แววการปรากฎตัวของสมาร์ทโฟน segment premium อยู่เช่นเคย

แต่ก็ยังไม่ถึงกับหมดความหวัง ช่วงก่อนที่ Xperia XZ
จะเปิดตัวในไทยได้ไม่นานนั้นผมบังเอิญไปได้ยินมาว่าสมาร์ทโฟน segment
premium จะกลับมาอีกครั้งนึงตอนช่วงต้นปีหน้า และหลังจากจบงานเปิดตัว
Xperia XZ ไปผมก็ได้อำลาเพื่อน ๆ สมาชิกกลุ่ม Xperia Thailand Club ว่า
“เจอกันตอนงานเปิดตัว XZ Premium ครับ” และเราก็ได้กลับมาเจอกันจริง ๆ
พร้อมกับมาช่วยกันทำรีวิวฉบับนี้ขึ้นมา

สรุปง่าย ๆ คือ XZ Premium เป็นสมาร์ทโฟนที่ต่อยอดมาจาก Z5 Premium โดยตรง
ถูกวางระดับไว้สูงกว่าเรือธง ส่วน X Performance กับ XZ และ XZs
นั้นจัดว่าเป็นเรือธง

 

Specifications

  • มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Google Android™ 7.1.1 (Nougat) ครอบทับด้วย Xperia UI
  • ชิปเซ็ต Qualcomm® Snapdragon™ 835
  • RAM 4 GB LPDDR4X
  • หน่วยความจำภายใน 64 GB แบบ UFS
  • รองรับการ์ด microSDXC สูงสุดถึง 256 GB
  • จอแสดงผลแบบ IPS ระดับ 4K HDR ขนาด 5.5 นิ้ว มาพร้อมกับ TRILUMINOS สำหรับมือถือและกลไกภาพ X-Reality สำหรับมือถือ
  • กระจก Corning® Gorilla® ระดับ 5 ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  • กล้องหลัง Motion Eye™ ความละเอียด 19 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ Exmor RS™
    ขนาด 1/2.3 นิ้ว ขนาดพิกเซล 1.22μm f 2.0 เลนส์ G
    แบบมุมกว้างทาง​ยาว​โฟกัส​ 25 มิลลิเมตร
    มาพร้อมระบบโฟกัสอัตโนมัติไฮบริดแบบคาดการณ์การเคลื่อนไหวล่วงหน้าได้
    สำหรับภาพนิ่งนั้นสามารถถ่ายภาพแบบคาดเดาล่วงหน้าก่อนกดชัตเตอร์
    สำหรับวิดีโอมาพร้อมกับระบบกันสั่นอิเลกทรอนิกส์ SteadyShot™ 5
    แกนพร้อมโหมดแอคทีฟแบบอัจฉริยะ, การบันทึกวิดีโอความละเอียด 4K
    และถ่ายวิดีโอสโลว์โมชั่นที่ 960 เฟรม/วินาที
  • กล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ Exmor RS™ ขนาด 1/3.06 นิ้ว เลนส์มุมกว้าง f 2.0 ขนาด 22 มิลลิเมตร
  • ลำโพงคู่สเตอริโอพร้อมระบบเสียงรอบด้าน S-Force, รองรับระบบเสียง
    Hi-res Audio, เทคโนโลยีการเข้ารหัสเสียงความละเอียดสูง LDAC,
    ระบบปรับแต่งเสียง DSEE HX กับ Clear Audio+ และการตัดเสียงรบกวนแบบดิจิตอล
  • สามารถบันทึกเสียงแบบสเตอริโอได้
  • มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
  • กันฝุ่นกันน้ำมาตรฐาน IP65/IP68
  • ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth 5.0 และ NFC
  • USB Type-C™ 3.1 Gen 1
  • รองรับ 2 ซิมแบบนาโนซิม ระบบ Dual SIM Stand-by
  • แบตเตอรี่ 3,230 mAh มาพร้อมกับ Qualcomm® Qucik Charge 3.0 และ Qnovo Adaptive Charging

 

Unbox

 

กล่องยังคงเป็นดีไซน์ตามแบบฉบับของกล่องตระกูล Xperia X โดยด้านบนจะมีตัวหนังสือ Xperia สะท้อนแสงได้และมีรูปตัว X จาง ๆ
พาดอยู่บนกล่องด้วย ไม่มีชื่อรุ่นบอกอยู่บนฝากล่องเช่นเคย ถ้าเอาฝากล่องของทุกรุ่นในตระกูล Xperia X มาหงายแล้ววางเรียงกันคุณจะไม่สามารถบอกได้ว่าฝาไหนมาจากกล่องรุ่นไหน (ยกเว้นบางรุ่นที่ขนาดต่างไปจากเพื่อน)

ชื่อรุ่นจะถูกติดไว้ที่ขอบด้านล่างของฝากล่อง

พอเปิดกล่องขึ้นมาก็จะเจอกับลวดลายของกล่องชั้นในซึ่งเหมือนกับ Xperia Loops Live Wallpaper ตรงส่วนนี้เป็นเอกลักษณ์ของกล่อง Xperia เลยก็ว่าได้เพราะจะทำลวดลายของกล่องชั้นในมาตรงกับ Wallpaper ของรุ่นนั้น ๆ จัดว่าดี

พาย้อนกลับไปดูกล่องของ Xperia X Performance กับ Xperia XZ ที่มีลวดลายเหมือนธีมในเครื่อง

*เนื่องจากอุปกรณ์ในกล่องที่ทาง Sony ส่งมามีแต่เครื่องกับสายชาร์จก็ขอจบช่วง Unbox ไว้เพียงเท่านี้ครับ

Materials & Design

ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนเรือธงของ Sony จะเปลี่ยนมาใช้วัสดุใหม่อย่าง ALKALEIDO มาแล้วถึง 2 รุ่น แต่ในรุ่นพรีเมี่ยมนั้นยังคงยึดแนวทางเดิมคือเป็นกระจกเงารอบตัวเครื่อง โดยประกอบด้วยกระจก Corning Gorilla 5 แบบโค้ง 2.5D ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ส่วนดีไซน์นั้นเป็น Loop Surface เช่นเดียวกับ Xperia รุ่นอื่น ๆ ที่เปิดตัวในครึ่งหลังของปี 2016 เป็นต้นมา โดยตัวเครื่องทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะเชื่อมต่อกันผ่านขอบโค้งเป็นปึกแผ่นเดียวกัน ทำให้สมดุลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง นอกจากนี้ขอบด้านบนและด้านล่างยังตัดขอบแบบ Diamond Cut ทำให้แบนเรียบและสามารถจับตัวเครื่องตั้งฉากได้

ถึงจะโดนแซวอยู่บ่อย ๆ ว่าดีไซน์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ XZ Premium นั้นได้ทำการยกเครื่องการจัดเรียงชิ้นส่วนภายในใหม่ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความร้อนที่มีมานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของ Xperia ไปแล้ว

มาดูที่รายละเอียดอื่น ๆ ของตัวเครื่องกันบ้าง
ในส่วนของด้านหน้านั้นก็มีการจัดวางเหมือนกับ Xperia รุ่นอื่น ๆ
โดยมีไฟแจ้งเตือนอยู่ด้านซ้ายสุด ตามด้วยกล้องหน้า ลำโพง และเซนเซอร์ต่าง ๆ
โดยลำโพงเป็นลำโพงคู่แบบ Stereo เช่นเคย

ด้านหลังเป็นกระจกแบบเงาสะท้อนแสง โดยตรงกลางมีคำว่า Xperia ติดอยู่แต่ไม่ได้มาโดด ๆ เพราะถัดลงมายังมีสัญลักษณ์ NFC ติดอยู่ด้วย โชคดีที่ NFC กลับมาอยู่ด้านหลังแล้วทำให้ไม่ต้องทำท่าพิศดารเพื่อเชื่อมต่อด้วย NFC อีกต่อไป

การเชื่อมต่อด้วย NFC ระหว่าง X Performance กับ XZ ที่มี NFC อยู่ด้านหน้า

ในส่วนของกล้องหลังนั้นนูนขึ้นมาเล็กน้อยและมาพร้อมกับ Triple Image Sensing เช่นเคย โดยจัดวางตำแหน่งเหมือนกับ Xperia X Compact

ขอบด้านบนของเครื่องนั้นเป็นโลหะ มีไมโครโฟนตัดเสียงรบกวนและช่องหูฟัง 3.5 มม. ที่ยังอยู่กับเรา ไม่ได้โดนตัดออกไปไหน

ขอบด้านล่างนั้นก็เป็นโลหะเช่นกัน มีไมโครโฟนสำหรับสนทนากับพอร์ต USB  Type-C

ส่วนขอบด้านข้างนั้นเป็นไนลอนเคลือบสีทำให้ดูเงา ไม่ใช่โลหะแต่อย่างใด ขอบด้านซ้ายจะมีถาดใส่ซิมและ microSD แบบ Hybrid Slot

ขอบด้านขวาจะมีปุ่มชัตเตอร์แบบ 2 จังหวะคือกดลงครึ่งนึงเพื่อโฟกัสและกดสุดเพื่อถ่ายภาพ ปุ่ม Power พร้อมที่สแกนลายนิ้วมือในตัวและปุ่ม Volume

Xperia XZ Premium มีด้วยกันทั้งหมด 4 สีได้แก่

  • Deepsea Black: สีดำลึกล้ำ
  • Luminous Chrome: โครเมี่ยมสะท้อนแวววาว
  • Bronze Pink: ชมพูเงินบรอนซ์

และสีแดง! ที่ไม่ทราบชื่อว่าเรียกว่าอะไรเพราะมาแบบงง ๆ โดยเขาว่ากันว่ามีเฉพาะในจีนกับญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าวางจำหน่ายไปรึยัง บางกระแสข่าวก็บอกว่าเป็นสีที่ถูกยกเลิก ขอบคุณภาพ Xperia XZ Premium สีแดงจาก www.gadgetmatch.com

Software

 

Xperia XZ Premium มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Google Android™ 7.1.1 ครอบทับด้วย Xperia UI อีกที

หน้า Lock screen มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบนาฬิกา
โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ตัวเลขชั่วโมงอยู่ข้างบนตัวเลขนาทีมาเป็นแบบตัวเลขชั่วโมงมีขนาดใหญ่กว่าเลขนาที
ส่วนวันที่อยู่ข้างล่างเลขนาทีอีกทีนึง
และมีวงแหวนครึ่งวงกลมไปล้อมรอบบริเวณปุ่ม Power

หลังจากที่ทำการปลดล็อคหน้าจอ วงแหวนที่ล้อมรอบปุ่ม Power ก็จะกระจายตัวออกไปทั่วหน้าจอ ลองนึกภาพเวลาโยนหินลงน้ำดูครับ มันจะกระจายออกเป็นวงแบบนั้น โดยตัว Launcher มีชื่อเรียกว่า Xperia Home

และถ้าปล่อยให้แบตเตอรี่ต่ำกว่าที่เราตั้งเตือนไว้ วงแหวนจะเปลี่ยนสีเป็นแดงทันที

และพอทำการปลดล็อคเครื่อง วงแหวนจะลงไปกองอยู่ทางด้านล่างเพื่อเตือนให้รู้ว่าชาร์จแบตได้แล้วนะ

และระหว่างที่กำลังชาร์จหรือเชื่อมต่อด้วยพอร์ต USB วงแหวนก็จะไปกองอยู่ทางด้านล่าง

กลับมาที่ตัว Launcher กันต่อ App drawer สามารถเข้าถึงได้สองวิธี
โดยจะกดเข้าผ่านไอคอนวงกลมสีขาวที่มีจุด 6 จุดหรือจะรูดจอลงก็ได้
แต่ถ้ารูดทางด้านบนสุดตรง Status bar จะเป็นการเลื่อนดูการแจ้งเตือน

ถ้าเลื่อนลงมาหนึ่งครั้งจะแสดงการตั้งค่า 6 อย่างแรกที่เราเลือกไว้ (สามารถแก้ไขได้) กับการแจ้งเตือนต่าง ๆ

และยังสามารถลากการแจ้งเตือนบางอย่างให้โชว์รายละเอียดเยอะขึ้นได้อีกด้วย

ถ้าลากแถบการตั้งค่าลงมาอีกครั้งจะแสดงการตั้งค่าเบื้องต้นทั้งหมด

สามารถกดเข้าไปตั้งค่าได้เลย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน

ถ้าแตะค้างไว้ตรงหน้า Home screen จะสามารถปรับแต่ง Launcher ได้ โดยสามารถใส่ Widget เปลี่ยน Wallpaper เปลี่ยน Theme สร้างไอคอนลัดเปลี่ยนการจัดเรียงไอคอน และตั้งค่าอื่น ๆ เกี่ยวกับหน้า Home ได้

ในส่วนของ Theme ก็จะตั้งเป็น Xperia Loops มาให้ในเบื้องต้น และยังมี Theme ของ Xperia XZ/X Compact มาให้ด้วย

หน้าตั้งค่าหลักมีหน้าตาเหมือนกับ Xperia รุ่นที่ผ่าน ๆ มา โดยแบ่งออกเป็น 4
ส่วนหลักคือ Wireless & networks Theme & Wallpaper Accounts
& services และ System

Assist

Assist เป็นเหมือนผู้ช่วยของเราเวลาใช้งาน Xperia ซึ่งจะมีการแนะนำการตั้งค่าเกี่ยวกับตัวเครื่องและฟีเจอร์ต่าง ๆ อยู่ในนี้

Introduction to Xperia ส่วนนี้จะคอยแนะนำการตั้งค่าต่าง ๆ ในตัวเครื่อง

Xperia Tips คอยแนะนำทิปต่าง ๆ (จริง ๆ มีเยอะกว่านี้แต่กดสำรวจบางส่วนแล้วเลยหายไป)

Xperia Action ฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่ทาง Sony ใส่มาให้ใน Xperia ที่เปิดตัวในปี 2017 ซึ่งมีความสามารถ 3 อย่าง ได้แก่

Good night actions : ปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ เวลานอนซึ่งตั้งเวลาเอาได้และยังเลือกได้ว่าจะเปิดโหมดเครื่องบิน ห้ามรบกวน ปิดไฟแจ้งเตือน ลดแสงจอ ฯลฯ ได้ด้วย

Focus actions : ปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ เวลาทำงานอยู่หรือต้องการใช้สมาธิ

Abroad actions : ตั้งค่าสมาร์ทโฟนเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เช่น Roaming

STAMINA mode โหมดประหยัดพลังงานสุดทน

สามารถตั้งค่าให้เริ่มทำงานในระดับของแบตเตอรี่ที่กำหนดไว้ได้หรือจะให้ทำงานตลอดเวลาก็ได้เช่นกัน และยังเลือกได้ว่าจะให้ประหยัดแบตระดับไหน โดยจะเลือกเน้นระยะเวลา ประสิทธิภาพ หรือสมดุลกันระหว่าง 2 อย่าง

นอกจากนี้ยังมี Ultra STAMINA mode โหมดโคตรประหยัดแบตที่จะใช้ได้เฉพาะโทรเข้าโทรออก รับส่งข้อความ ถ่ายรูป
ดูวันที่ นาฬิกา เครื่องคิดเลข ตั้งค่า และฟังเพลงเท่านั้น ถ้ายกเลิกโหมดนี้เครื่องจะทำการ restart ตัวเอง 1 รอบและกลับสู่สภาวะปกติ

Smart cleaner ระบบกำจัดไฟล์ขยะ ซึ่งก็ถือว่าทำงานได้ดีในระดับนึงและไม่ลบไฟล์ออกจากเครื่องแบบสุ่มสี่สุ่มห้า

สามารถจัดการไฟล์ cache ดูพื้นที่ในเครื่องและการบริโภค Ram ได้จากหน้านี้

ส่วนการบริโภค Ram นั้นสามารถเลือกได้ว่าให้แสดงผลค่าเฉลี่ยในรอบ 3, 6, 12 หรือ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นตัวเลขที่แสดงจะไม่ใช่การบริโภค Ram แบบ Real time นะครับ

Battery care ระบบถนอมแบตเตอรี่โดยจะคงระดับแบตเตอรี่ไว้ที่ 90% และชาร์จต่อให้เต็ม 100% ในเวลาที่คุณกำลังจะตื่น
โดยระบบนี้จะคอยตรวจจับช่วงเวลาในการเสียบสายชาร์จและการถอดสายชาร์จของคุณในระยะเวลาหนึ่งก่อนจะเริ่มทำงาน
(ฟีเจอร์นี้เหมาะสำหรับคนที่ชาร์จแบตเป็นเวลาจริง ๆ)

ตำแหน่งของเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือนั้นจะอยู่บริเวณขอบด้านขวาของตัวเครื่องต่างจากยี่ห้ออื่น ๆ ที่มักจะใส่ไว้ในปุ่ม Home หรือบริเวณด้านหลัง สำหรับ Xperia นั้นจะใส่ตัวสแกนลายนิ้วมือรวมไว้ด้วยกันกับปุ่ม Power ทำให้สามารถกดเปิดเครื่องและปลดล็อคหน้าจอไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนตัวผมมองว่าตำแหน่งของเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือบน Xperia นั้นเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเวลาที่คุณถือเครื่องอยู่นั้นสามารถปลดล็อคเครื่องได้โดยไม่ต้องเอื้อมนิ้วไปแตะที่บริเวณด้านล่างเครื่องหรือด้านหลัง ถ้าคุณใช้นิ้วโป้งปลดล็อคตำแหน่งของนิ้วโป้งกับเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือก็จะอยู่ตรงกันพอดี หรือถ้าคุณเป็นคนถนัดซ้าย คุณสามารถใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางปลดล็อคเครื่องได้ และถ้าคุณวางเครื่องไว้บนโต๊ะ คุณสามารถใช้นิ้วชี้ขวาปลดล็อคได้โดยไม่ต้องยกเครื่องขึ้นมา

สามารถตั้งค่าให้จดจำลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 นิ้ว และในหน้า Fingerprint Manager ถ้าเราเอานิ้วมือที่สแกนไว้อยู่แล้วไปแตะตรงเซนเซอร์จะสามารถบอกได้ว่านิ้วที่แตะเป็น Fingerprint หมายเลขไหน สะดวกสำหรับคนที่ขี้เกียจระบุนิ้ว ความเร็วในการปลดล็อคถือว่ารวดเร็วแต่ถ้านิ้วชื้นก็จะสแกนไม่ติดในบางครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งค่าให้สแกนลายนิ้วมือหรือใส่รหัสไว้ก็สามารถแตะที่สแกนเวลาหน้าจอติดอยู่เพื่อปลดล็อคเครื่องได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ลายนิ้วมือแทนการใส่รหัสเพื่อจ่ายเงินเพื่อซื้อของบน Play Store และสามารถตั้งค่าให้กดปุ่ม Power 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องได้ด้วย อย่างไรก็ตามข้อเสียของที่สแกนนิ้วแบบนี้คือทำให้ดูข้อมูลต่าง ๆ บนหน้า Lock screen ยากมาก เพราะกดลงไปก็จะปลดล็อคให้เลย

Performance

เรื่องประสิทธิภาพคงไม่พูดมากเพราะ Snapdragon 835 Ram 4 GB Storage แบบ UFS 2.1 นั้นสามารถใช้งานได้ลื่น ๆ ไม่ว่าจะเล่นโซเชียลหรือเล่นเกมกราฟิกโหด ๆ และประกอบกับการออกแบบภายในใหม่ทั้งหมดทำให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน ๆ ด้วย สรุปคือเรื่องประสิทธิภาพทำได้ดีไม่แพ้เรือธงค่ายไหนครับ

Display 4K HDR!

หลังจากที่ Sony ได้เปิดตัว Xperia Z5 Premium สมาร์ทโฟนจอ 4K เครื่องแรกในโลกไปเมื่อปี 2015 นั้นดูเหมือนว่าจอ 4K ยังไม่มีประโยชน์เท่าไหร่เพราะในเวลานั้นยังไม่มีแอปฯ ใดออกมารองรับความละเอียดระดับนี้นอกจากแอปฯ ที่มากับเครื่องอย่างเช่น Gallery ในปี 2017 Sony ก็ได้นำจอ 4K มาใส่ไว้ใน XZ Premium อีกครั้ง แต่ไม่ใช่จอ 4K ธรรมดาเหมือนก่อนหน้านี้เพราะได้อัพเกรดระบบ HDR เข้าไปด้วย และยังมีแอปอื่น ๆ เข้ามารองรับการทำงานของระบบ 4K HDR นอกจากแอปฯ ที่มากับตัวเครื่อง

เวลาเช็คความละเอียดจอในแอปฯ เช็คสเปคทั้งหลายจะโชว์ว่า Xperia XZ Premium มีความละเอียดเพียง 1080P หรือ Full HD เท่านั้น แต่เวลาแคปออกมาภาพจะเป็นขนาด 4K และไฟล์มีขนาดใหญ่พอสมควร

ถึงจะเป็นจอ 4K เหมือนกันแต่จุดที่แตกต่างกันระหว่าง Z5 Premium กับ XZ Premium นั่นก็คือจากเดิมที่ใช้ซอฟต์แวร์อัพสเกลภาพให้เป็น 4K ใน Z5 Premium เปลี่ยนมาเป็นการใช้ฮาร์ดแวร์ประมวลผลแยกต่างหากใน XZ Premium ทำให้ไม่กินแรงเครื่อง ซึ่งการอัพสเกลภาพมี 2 แบบ คือ Doubler ที่เป็นการคูณจำนวนพิกเซลเข้าไปเลยโดยตรง กับ Pixel complement ที่จะใช้อัลกอริทึมซับซ้อนในการจำลองพิกเซลขึ้นมา แอปฯ Album กับ Video รวมถึงแอปฯ อื่น ๆ ที่ทำออกมารองรับเลยจะใช้วิธี Pixel complement
ซึ่งตัวซอฟต์แวร์จะมองเห็นเป็น 4K ด้วย ส่วนแอปฯ อื่น ๆ นั้นจะใช้วิธี Doubler ซึ่งซอฟต์แวร์จะมองเห็นเป็น 1080P แต่ทั้ง 2
วิธีนี้ตาเรายังคงมองเห็นเป็น 4K เช่นกัน ส่วนเนื้อหาที่มีความละเอียดมากกว่า 4K ก็จะแสดงผลเป็น 4K อยู่แล้ว

มาดูเรื่อง HDR กันบ้าง ระบบ HDR จะทำให้หน้าจอมีขอบเขตของสีกว้างกว่าจอปกติ ซึ่งจะเพิ่ม contrast ระหว่างสีดำและสีขาวให้มากขึ้น ทำให้สีดำนั้นมืดลงกว่าเดิม สีขาวสว่างมากขึ้น และสีสันอื่น ๆ ก็จะแสดงได้เยอะขึ้น ระบบ HDR นั้นมีมาตรฐานมากมายเช่น HDR10, Dolby vision, HDR Premium, HLG ฯลฯ โดยจอของ XZ Premium นั้นได้มีการรองรับมาตรฐานของ HDR10 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีช่วงสีที่กว้างขึ้นเป็น 138% sRGB

ซึ่งตอนนี้แอปพลิเคชั่นดัง ๆ ที่มีคอนเทนต์ 4K HDR นั้นได้แก่ Amazon Prime (ยังไม่เปิดบริการในไทย) Netflix และ YouTube
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถดูเนื้อหาแบบเป็น 4K HDR ได้ทั้งหมด

คลิปไหนบน YouTube ที่เป็น HDR ก็จะขึ้นแบบนี้เวลาเลือกรายละเอียด

ถ้าใครนึกความแตกต่างระหว่างวิดีโอปกติกับวิดีโอ HDR ไม่ออกละก็ เรามีวิดีโอเปรียบเทียบความแตกต่างมาให้รับชมกันครับ

เปรียบ​เทียบ​คลิป 4K ธรรม​ดากับ 4K HDR บน Xperia XZ Premium (ปิดการปรับแต่งภาพและปรับความสว่างสูงสุด)

สำหรับการปรับแต่งภาพนั้นจะมี Preset มาให้ 3 แบบ ได้แก่

  • Professional mode : แสดงผลขอบเขตของสีเป็น 100% sRGB สำหรับเวลาต้องการดูภาพที่มีสีตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด
  • Standard mode : โหมดนี้จะใช้เทคโนโลยี TRILUMINOS™ มาช่วยปรับแต่งภาพให้มีสีสันและสว่างมากขึ้น
  • Super-vivid mode : โหมดนี้จะปรับแต่งภาพให้มีสีสันสดใสมากขึ้นไปอีกขั้น เหมาะสำหรับคนที่ชอบสีสันจัด ๆ

นอกจากการปรับแต่งภาพแล้วยังมีการปรับแต่งวิดีโออีกด้วย ถ้าเปิดเอาไว้ก็จะปรับแต่งวิดีโอให้มีสีสันและความคมชัดมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี X-Reality โบนัสส่งท้ายเกี่ยวกับเรื่องจอภาพ สำหรับใครที่อยากทราบว่าจอของ Z5 Premium นั้นแตกต่างกับ XZ Premium อย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนเรามีวิดีโอมาให้รับชมกันครับ

เปรียบ​เทียบ​ความแตกต่างระหว่างจอของ Xperia Z5​ Premium​ กับ Xperia XZ Premium (ปิดการปรับแต่งภาพและปรับความสว่างสูงสุด)

Sound

สำหรับระบบเสียงก็ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม Xperia XZ Premium รองรับการเล่นเพลงที่ความละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio สามารถเล่นไฟล์เสียงอย่างพวก FLAC, ALAC และ DSD ได้

มีเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงอย่าง DSEE HX ที่ทำให้ไฟล์เสียงที่ถูกบีบอัดมีความละเอียดขึ้นมาใกล้เคียงคุณภาพระดับ
Hi-Res เวลาฟังเพลงผ่านหูฟังมีสาย, ClearAudio+ ช่วยปรับเสียงให้เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังฟังอยู่ และ Dynamic normalizer
ที่คอยรักษาระดับเสียงไม่ให้แตกต่างกันมากเกินไปเวลาเปลี่ยนเนื้อหาที่ฟังเวลาเปิดใช้งาน DSEE HX นั้นจะไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นเสียงอื่น ๆ ได้ ส่วน ClearAudio+ นั้นสามารถทำงานร่วมกับ Dynamic normalizer ได้ แต่ไม่สามารถปรับ Sound effects ได้เวลาเปิดใช้งาน

สำหรับ Equalizer นั้นสามารถปรับแต่งได้อิสระและมี presets มาให้ตามภาพ

ในส่วนของหูฟังนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะให้เสียงออกแบบปกติเหมือนฟังจากหูฟัง, Studio, Club หรือ Concert hall
ซึ่งแต่ละอันนั้นจำลองได้ค่อนข้างสมจริงเลยทีเดียว

มาดูในฝั่งของระบบฟังเพลงแบบไร้สายกันบ้าง ใน Xperia XZ Premium นั้นมีเทคโนโลยี LDAC ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะสำหรับค่าย Sony ที่ส่งสัญญาณได้สูงสุด 990 kbps ช่วยให้ความละเอียดของเสียงไม่ตกหล่นเวลาฟังเพลงผ่านหูฟัง Bluetooth
(แต่ก็ต้องใช้หูฟังที่รองรับระบบนี้ด้วยนะ ซึ่งราคานั้นค่อนข้างสูงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน) อย่างไรก็ตามถ้าไปอยู่ในที่ที่มีสัญญานรบกวนมาก ๆ ก็ทำให้มีอาการเสียงกระตุกบ้างเป็นบางครั้ง

 ตอนนี้ทาง Google ได้นำเทคโนโลยี LDAC ไปใส่ไว้ใน Android O
เรียบร้อยและมีให้ใช้งานบน Google Pixel/Pixel XL แล้ว
ในอนาคตระบบนี้อาจไปโผล่ในสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น ๆ ด้วย

ส่วนลำโพง Stereo นั้นก็ยังคงเสียงเบาเช่นเคยครับ แต่ด้วยตัวเครื่องที่กว้างขึ้นทำให้เสียงที่ออกมามีมิติที่ดีขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามถือว่ายังเบามากเมื่อเทียบกับเรือธงรุ่นอื่น ๆ ที่จัดเต็มด้านระบบเสียงกันไปไกลแล้ว

Microphone

ทดสอบไมโครโฟน​ของ Xperia XZ Premium​ ในบริเวณ​ที่มีเสียงดัง
 สำหรับไมโครโฟนของ Xperia XZ Premium
นั้นสามารถจับเสียงคนและตัดเสียงรบกวนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยจะเน้นการบันทึกเสียงคนพูดเป็นหลัก ถึงคุณจะเปิดเพลงในวิทยุและร้องตาม
เสียงที่ถูกบันทึกนั้นก็จะเน้นเสียงของคุณมากกว่าเสียงในวิทยุ
 
ที่พิเศษกว่านั้นคือสามารถอัดเสียงแบบ Stereo
ได้ในตัวโดยใช้ไมค์ที่ติดมากับตัวเครื่อง
แต่ที่น่าแปลกคือตั้งแต่เริ่มซีรี่ส์ Xperia X มา Sony
ไม่ได้ทำการติดตั้งแอปฯ บันทึกเสียงมาให้จากโรงงาน ซึ่งต้องไปดาวน์โหลดแอป
Audio Recorder ของทาง Sony เองทีหลังบน Play Store (ใครยังไม่ได้โหลดกดตรงนี้เลยจ้า)
 

Camera

หลังจากที่ Sony ได้เสริมประสิทธิภาพให้กับเซนเซอร์ IMX300 ด้วย Triple Image Sensing บน Xperia XZ ไปเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ก็ถึงเวลาที่ Sony ได้ปลดประจำการ IMX300 ที่ใช้มาตั้งแต่สมัย Xperia Z5 และเปลี่ยนไปใช้เซนเซอร์ตัวใหม่อย่าง IMX400 โดยตั้งชื่อเซนเซอร์ตัวนี้ว่า Motion Eye

ซึ่งลดความละเอียดลงเหลือ 19 ล้านพิกเซลและเพิ่มขนาดพิกเซลเป็น 1.22 μm
(IMX300 มีความละเอียด 23 ล้านพิกเซลและขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.08 μm)

และที่เจ๋งคือเจ้า Motion Eye นั้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี 3-Layer Stacked CMOS ที่ใส่ DRAM เข้าไปในเซนเซอร์ ทำให้ Motion Eye นั้นมีลูกเล่นใหม่ ๆ อยู่ 3 อย่างนั่นก็คือ Predictive captureAnti-distortion shutter และ Super Slow Motion ซึ่งเป็นจุดขายหลัก ๆ อีกหนึ่งอย่างของ XZ Premium ที่จะถูกพูดถึงต่อไป

มาดูที่การถ่ายภาพนิ่งกันก่อน จากการทดลองถ่ายภาพที่ความละเอียด 17 ล้านพิกเซลและ 19 ล้านพิกเซลพบว่าความจริงแล้วเซนเซอร์ IMX400 ไม่ได้มีความละเอียดสูงสุดอยู่ที่ 19 ล้านพิกเซล!?

เพราะเมื่อถ่ายที่ความละเอียด 17 ล้านพิกเซลนั้น Resolution
ของภาพจะอยู่ที่ 5,504 x 3,096 ส่วนที่ความละเอียด 19 ล้านพิกเซลนั้น
Resolution ของภาพจะอยู่ที่ 5,056 x 3,792 พิกเซล

พอลองเคาะเครื่องคิดเลขดูก็จะพบว่าความละเอียดเต็ม ๆ ของเซนเซอร์ IMX400 นั้นอยู่ที่เกือบ ๆ 21 ล้านพิกเซล ซึ่งเหมือนกับ IMX300 ที่ความละเอียดเต็ม ๆ อยู่ที่ 25 ล้านพิกเซล แต่ถ่ายได้สูงสุดแค่ที่ความละเอียด 23 ล้านพิกเซล เนื่องจากเวลาถ่ายภาพด้วยอัตราส่วน 16:9 นั้นเป็นการใช้ความละเอียดด้านกว้างของเซนเซอร์อย่างเต็มที่ ไม่ได้ crop ภาพจากอัตราส่วน 4:3 แต่อย่างใด ทำให้การถ่ายภาพที่อัตราส่วน 16:9 นั้นทำได้กว้างมากขึ้นมาอีกระดับนึง และในทางกลับกันการถ่ายภาพด้วยอัตราส่วน 4:3 ก็จะเก็บภาพในด้านสูงได้อย่างเต็มที่เช่นกัน เพิ่มเติมอีกอย่างคือเซนเซอร์ภาพเป็นแบบอัตราส่วน 16:9 เหมือนเซนเซอร์ทั่ว ๆ ไป

สำหรับโหมด Manual นั้นมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือระบบ Scene selection ถูกนำออกไปแล้ว
นอกจากนั้นอย่างอื่นก็ยังคงเหมือนเดิม Shutter speed ยังไม่สามารถปรับได้นอกเหนือจาก 1/4000 จนถึง 1 วินาที และยังไม่สามารถปรับ ISO และ Shutter speed พร้อมกันได้อยู่ดี

ส่วนระบบ Predictive Hybrid Autofocus ที่เป็นระบบติดตามวัตถุก็ยังคงอยู่และใช้งานได้ดีเช่นเคย แต่ก็ยังไม่สามารถโฟกัสและวัดแสงไปพร้อมกันได้เมื่อเปิดโหมดนี้

พูดถึงฟีเจอร์เก่า ๆ ไปแล้วมาดูสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่กันบ้าง อย่างแรกที่จะพูดถึงก็คือ Predictive capture ที่จะทำการเก็บภาพไว้ล่วงหน้าก่อนกดชัตเตอร์ได้สูงสุดถึง 3 ภาพ ทำให้โอกาสพลาดเวลาถ่ายช็อตสำคัญน้อยลง ซึ่งระบบนี้จะทำงานก็ต่อเมื่อพบว่าวัตถุมีการเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง

ต่อมาคือ Anti-distortion shutter ที่ช่วยลดอาการบิดเบี้ยวเวลาถ่ายวัตถุที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ระบบนี้จะทำงานเฉพาะ​สภาวะที่มีแสงเพียงพอ เวลา​ถ่าย​ภาพ​วัตถุ​ที่​เคลื่อนไหว​เร็ว ​ๆ โดย​ใช้​ความ​เร็ว​ชัตเตอร์​น้อย​ ๆ เท่านั้น

เพราะฉะนั้นในสภาวะที่แสงน้อยมาก ๆ ระบบนี้จะไม่ทำงาน ส่วนเรื่อง Super Slow Motion นั้นขอยกไปไว้ในส่วนของ Video ตอนนี้ขอคั่นด้วยตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมด Superior Auto กับพูดถึงในส่วนกล้องหน้ากันก่อน

 ตัวอย่างภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยโหมด Superior Auto บน Xperia XZ Premium

มาดูในส่วนของกล้องหน้ากันบ้าง สำหรับ Xperia XZ Premium นั้นทำกล้องหน้าออกมาได้ดีไม่แพ้เรือธงตัวไหน ซอฟต์แวร์ปรับหน้าให้เนียนกำลังดี ไม่ดูหลอกตามากเกินไป แต่เสียดายที่ไม่สามารถปรับระดับความเนียนได้ กล้องหน้าเก็บภาพได้กว้าง ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดี มีลูกเล่น 2 อย่างช่วยให้ถ่ายภาพได้สะดวกนั่นก็คือ Smile Shutter โดยกล้องจะจับการยิ้มของเรา พอยิ้มปุ๊บก็จะทำการถ่ายภาพให้ทันที กับ Hand Shutter ที่ชูมือขึ้นแล้วพอกล้องจับตำแหน่งมือของเราได้ให้กำมือหนึ่งครั้ง กล้องก็จะทำการถ่ายภาพให้ทันที
แต่ทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้พร้อมกัน ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้าบน Xperia XZ Premium

Video

หลังจากที่เปิดตัว Xperia XZ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว Sony ก็ได้อัพเกรดระบบ
SteadyShot จากเดิมแบบ 3 แกนมาเป็น 5 แกน ซึ่งยังคงเป็นกันสั่นแบบ EIS
อย่างเดียว ยังไม่มีการติดตั้ง OIS แต่อย่างใด

สำหรับความละเอียดนั้นสามารถเลือกได้สูงสุดถึง 4K แต่ต้องไปเลือกเอาใน Camera App สำหรับการถ่ายที่ 60 FPS นั้นก็ต้องอยู่ในสภาวะที่มีแสงมากระดับนึงเพราะแสงจะดร็อปมากกว่า 30 FPS อยู่พอสมควร

สำหรับการกันสั่นนั้นสามารถเลือกได้ 3 แบบคือ Off ปิดการทำงานไปเลย, Standard กันสั่นแบบกลาง ๆ และ Intelligent active
ที่กันสั่นได้ในระดับที่นิ่งมาก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการปรับให้ถ่ายวิดีโอออกมานิ่งมากเท่าไหร่ก็ต้องแลกกับการที่ขอบภาพโดนกินเข้ามามากเท่านั้น เพราะระบบกันสั่น SteadyShot จะใช้การครอปขอบภาพเอาเพื่อนำส่วนตรงกลางมาคำนวณไม่ให้วิดีโอออกมาสั่น
ซึ่งภาพด้านบนจะเป็นการเปรียบเทียบการกินขอบภาพของระบบกันสั่นแต่ละโหมด เพิ่มเติมอีกนิดนึงคือ SteadyShot ใช้ได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง

 ยิ่งต้องการวิดีโอนิ่งมากเท่าไหร่ พื้นที่ของขอบภาพก็จะถูกตัดออกไปเยอะเท่านั้น

ไหน ๆ มี Xperia X Performance อยู่ในมือแล้ว เลยลองจับมาเปรียบเทียบกันไปเลยว่าระบบกันสั่น SteadyShot แบบ 3 แกนกับ 5
แกนมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

 เปรียบ​เทียบ​ความแตกต่างระหว่างระบบกันสั่นของ Xperia X
Performance​ กับ Xperia XZ Premium (เปิดโหมด Intelligent active
และถ่ายที่ความละเอียด FHD 30 fps)
 

Super Slow Motion!

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าเซนเซอร์ IMX400 นั้นมีหน่วยความจำติดตั้งอยู่ในตัว ทำให้เก็บข้อมูลไว้ได้ก่อนจะบันทึกลงความจำของตัวเครื่อง ซึ่งสามารถเก็บภาพได้ราว ๆ 1,000 รูปต่อวินาทีทำให้นำมาประยุกต์ใช้ในการถ่ายสโลว์โมชั่นที่ 960 FPS ได้

โดยการถ่าย Super Slow Motion นั้นจะจับช่วงเวลาหลังจากที่กดถ่ายไปราว ๆ 0.18-0.2 วินาทีและนำมาขยายให้ยาว 5 วินาทีที่ 30 FPS โดยโหมดนี้จะถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด HD เท่านั้น

สำหรับการถ่ายสโลว์โมชั่นนั้นสามารถถ่ายได้ 3 แบบคือ

  • Slow motion ถ่ายสโลว์โมชั่นปกติที่ 120 FPS แบบที่ผ่าน ๆ มา
  • Super slow (one-shot) ถ่ายสโลว์โมชั่นแบบช็อตเดียว ได้คลิปสั้น ๆ ความยาว 5 วินาที
  • Super slow motion ถ่ายด้วยความเร็วปกติและเลือกช่วงสโลว์โมชั่น โดยสามารถเลือกให้สโลว์โมชั่นกี่ช่วงก็ได้จนกว่าจะหยุดถ่าย

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโหมดนี้อย่างแรกคือภาพจะโดนครอปออกไปเยอะมากเนื่องจากป้องกันการสั่นไหวของภาพ ถ้าใครพกเลนส์ Wide ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนก็สามารถนำมาแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ อย่างที่สองคือภาพแต่ละเฟรมจะรับแสงได้น้อยมาก เพราะวินาทีเดียวต้องเก็บภาพมากถึง 960 ภาพ จึงควรอยู่ในที่มีแสงเพียงพอและควรเป็นแสงจากธรรมชาติหรือหลอด LED ด้วย ถ้าเป็นหลอดไฟทั่ว ๆ ไปก็จะเจออาการแสงกระพริบ เพราะปกติไฟบ้านทั่ว ๆ ไปจะกระพริบ 50 ครั้งต่อวินาทีซึ่งถือว่าเร็วมาก ตาเรามองไม่ทันก็จะเห็นมันสว่างตลอดเวลา แต่ระบบ Super slow motion ถ่าย 960 ภาพ/วินาที จึงสามารถจับการกระพริบนี้ได้ การกระพริบเกิดจากการไฟฟ้ากระแสสลับ ดังนั้นถ้าเราใช้แหล่งกำเนิดแสงเป็นไฟฟ้ากระแสตรง เช่น ไฟฉาย ภาพที่ได้ก็จะไม่กระพริบ

 ตัวอย่างการถ่าย Super slow motion ในที่แสงน้อย (สังเกตได้ว่า noise เยอะมาก)
 
ตัวอย่างการถ่าย Super slow (one-shot)
 
 ตัวอย่างการถ่าย Super slow motion
 
รวมวิดีโอ Super Slow Motion

Battery

สำหรับ Xperia ที่ออกมาพักหลัง ๆ นั้นเวลาตั้งสแตนด์บายไว้เฉย ๆ
มักจะเจออาการแบตลดลงเรื่อย ๆ
ซึ่งในส่วนนี้เดาว่าน่าจะเป็นบั๊กจากซอฟต์แวร์ที่ต้องรอดูแนวทางการแก้ไขต่อไป
การใช้งานทั่ว ๆ ไปอย่างเล่นแอปฯ โซเชี่ยลก็ถือว่าไม่ได้ลดไวอะไรมาก
ถ้าไม่ใช่คนที่หยิบสมาร์ทโฟนมาเล่นทุก ๆ 5 นาทีก็สามารถอยู่ได้ตลอดทั้งวัน
แต่ถ้าเล่นหนัก ๆ หน่อยอย่างดูหนัง ฟังเพลง
เล่นเกมติดต่อกันนานก็อาจจะต้องชาร์จ 2 ครั้งต่อวัน

Overall

วัสดุพรีเมียมสมชื่อ เป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยีของ Sony
ตามทันสมาร์ทโฟนค่ายอื่น ๆ แล้ว
ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครทั้งในด้านสเปคและจุดเด่นต่าง ๆ จอ 4K HDR
สามารถใช้งานได้จริง
เริ่มมีคอนเทนต์ให้เล่นหลากหลายและในอนาคตก็ดูเหมือนจะมีเพิ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อย
ๆ มันจึงไม่ใช่ฟีเจอร์ไม้ประดับเหมือนตอน Z5 Premium อีกต่อไป
การถ่ายวิดีโอ Super slow motion
ที่เจ๋งและดูน่าตื่นเต้นแต่การใช้งานค่อนข้างยากและออกจะเฉพาะทางไปสักนิด
อย่างไรก็ตาม Xperia XZ Premium
ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่ให้ความบันเทิงได้เต็มร้อย

ถึงแม้จะแก้ปัญหากล้องร้อนเวลาถ่ายรูปได้แล้วด้วยการยกเครื่องภายในใหม่ทั้งหมดแต่มีสิ่งนึงที่ Sony ควรรีบนำไปปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนคืออาการภาพเบี้ยวเป็นคลื่น ซึ่งมันไม่ใช่การเบี้ยวแบบเลนส์ Wide ปกติแถมแต่ละเครื่องยังเบี้ยวไม่เท่ากันด้วย ในส่วนนี้ก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคตว่า Sony เลือกที่จะแก้ไขหรือนิ่งเฉยปล่อยให้เบี้ยวแบบนี้ต่อไป

แต่ก็ยังมีเรื่องที่ให้น่าดีใจคือ Xperia XZ Premium จะได้รับอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่มากับ Xperia XZ1 ด้วย อย่างเช่น Autofocus
burst ถ่ายภาพรัว ๆ โดยไม่หลุดโฟกัส

กับ 3D Creator ที่สแกนวัตถุและนำไปพิมพ์ออกมาเป็นวัตถุจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้ และมีฟีเจอร์อื่น ๆ อีกมากมายที่รอคอยอัพเดตให้กับสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ ถึงจะเปิดตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ Xperia XZ Premium ก็ยังเป็นสมาร์ทโฟน Xperia ที่โดดเด่นที่สุดและคอยนำทัพ Xperia รุ่นอื่น ๆ ในการทำตลาดต่อไปจนกว่าจะมีสมาร์ทโฟน segment Premium มาแทนที่ในอนาคต ซึ่งก็คือช่วงต้นปีหน้าและกว่าจะวางขายก็คงช่วงกลางปี 2018 งานนี้ขายกันยาว ๆ กว่าจะตกรุ่นก็อีกนาน เพราะฉะนั้นแล้วในเวลานี้ Xperia XZ Premium ก็ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดูน่าสนใจและควรค่าแก่การหามาครอบครองสักเครื่อง