Samsung เปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy C สมาร์ทโฟนบอดี้โลหะด้วยรุ่น C5
และ C7 ในประเทศจีนไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว (2016) ซึ่งทาง Samsung
ได้วางตำแหน่งสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ไว้ในระดับกลางด้วยช่วงราคาหมื่นต้น ๆ
ไปจนถึงช่วงราคาหมื่นกลาง ๆ ค่อนไปทางปลาย แต่เดิมนั้น Samsung
ขายสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy C ในประเทศจีนเป็นหลักแต่ในภายหลังก็ได้ส่ง
Galaxy C9 Pro
ที่เปิดตัวในประเทศจีนไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามาขายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นจะนำเข้ามาจำหน่ายเพียง 2 สีนั่นก็คือสีดำและสีทอง
เปิดราคาอยู่ที่ 16,990 บาท วางจำหน่ายที่ Samsung Experience Store
(ซัมซุงแบรนด์ช็อป) เท่านั้น
Specifications
- ขนาดตัวเครื่อง 162.9 x 80.7 x 6.9 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 189 กรัม
- รองรับการใช้งาน 2 ซิม (Nano-SIM, dual stand-by)
- จอ Super AMOLED ขนาด 6.0 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 1920 พิกเซล รองรับ Always On Display พร้อมกระจก Corning® Gorilla® Glass 4
- ระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 (Marshmallow)
- ชิปเซ็ต Qualcomm MSM8976 Snapdragon 653
- หน่วยประมวลผล Octa-core (4×1.95 GHz Cortex-A72 & 4×1.4 GHz Cortex-A53)
- หน่วยประมวลผลกราฟฟิก Adreno 510
- รองรับ microSD สูงสุด 256 GB
- RAM 6 GB
- หน่วยความจำภายใน 64 GB
- กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.9 มาพร้อมระบบ phase
detection autofocus และ dual-LED flash ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 1080p
ที่ 30fps - กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.9 ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 1080p
- ลำโพงคู่ stereo
- มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
- Bluetooth 4.2
- มี NFC
- USB Type-C 1.0
- มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
Materials & Design
ด้านหน้าก็จะเป็นดีไซน์แบบที่ทุกคนคุ้นเคย
ขอบจอดูบางมากเพราะด้วยความที่เครื่องมีขนาดจอใหญ่ถึง 6
นิ้วและมีอัตราส่วนหน้าจอต่อตัวเครื่องอยู่ที่ประมาณ 75.5%
เวลาใช้งานมีอาการเลื่อนแล้วไม่ไปบ้างเป็นบางครั้งเพราะว่าฝ่ามือไปสัมผัสถูกบริเวณขอบจอ
วัสดุฝาหลังเป็นโลหะพื้นผิวสัมผัสแบบ Brushed Aluminum
ด้านบนและด้านล่างมีเส้นเสาสัญญาณพาดผ่านจากขอบด้านหนึ่งไปบรรจบกับอีกด้านหนึ่ง
ขอบเครื่องด้านซ้ายมีปุ่ม Volume สำหรับเพิ่มและลดเสียง
ขอบเครื่องด้านขวามีช่องใส่ซิมการ์ด กับ microSD และปุ่ม Power
สำหรับขอบด้านล่างช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ก็ยังคงอยู่กับเราเช่นเคย
ไม่โดนตัดออกไปไหน พอร์ตเชื่อมต่อเป็นแบบ USB Type-C ตามสมัยนิยมแล้ว
ส่วนขวาสุดนั้นเป็นลำโพงตัวที่ 2
ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่าลำโพงตัวแรกมันอยู่ตรงไหน คำตอบก็คือ…
อยู่ด้านบนนั่นเอง ลำโพงด้านบนไม่ใช่แค่ลำโพงสนทนาเท่านั้น
แต่มันสามารถใช้งาน Media Audio ได้เช่นกัน
เวลาดูหนังฟังเพลงก็จะทำงานคู่กับลำโพงด้านล่างเป็นลำโพง Stereo
Software
Samsung Galaxy C9 Pro มาพร้อมกับ Android 6.0.1 ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้อัพเดตเป็น Android 7.0 เมื่อไหร่
หน้าตา Launcher ก็มาในแบบฉบับของ Samsung ไอคอนเป็นแบบขอบมน จะกลมก็ไม่กลม จะเหลี่ยมก็ไม่เหลี่ยม มีเลขขึ้นให้บนไอคอนของแอปพลิเคชั่นที่มีการแจ้งเตือน
ในส่วนของ Status bar ถ้าลากลงมาหนึ่งครั้งจะโชว์ Quick setting 5 อย่างและ Notification ถ้าลากยาวลงมาก็จะเป็น Quick setting ทั้งหมดซึ่งสามารถกดเข้าไปตั้งค่าจากหน้านี้ได้เลย ใช้งานได้สะดวกดี
ในส่วนของ Notification จะแยกมาให้เป็นแอปฯว่ามีแอปฯไหนแจ้งเตือนบ้าง พอกดเข้าไปก็จะเป็นรายละเอียดว่าแจ้งเตือนอะไรบ้างซึ่งในส่วนนี้ชอบมากเลยทีเดียวเพราะมันไม่รกปนกันมั่วซั่วไปหมด ใช้งานสะดวกดี
หน้า Setting หลักเป็นสีขาวดูสะอาดตา
มี Device maintanance ไว้คอยเช็คแบตเตอรี่ ความจุ Ram กับระบบรักษาความปลอดภัยของเครื่องได้
Ram
มาถึงเรื่อง Ram กันบ้าง อันนี้เรียกว่าเป็นไฮไลท์หลักเลยก็ว่าได้เพราะ
Samsung Galaxy C9 Pro นั้นพก Ram มาเยอะจุใจถึง 6 GB!!!
หลังจากใช้งานมาได้ระยะนึงทำให้เห็นข้อดีของสมาร์ทโฟนที่มี Ram
เยอะเลยว่ามันดียังไง
ถ้าเราปิดการทำงานของแอปพลิเคชั่นทั้งหมดก็จะพบว่าระบบใช้ Ram ไป 1.9 GB
เหลือ Ram ให้ผลาญมากถึง 3.8 GB ซึ่งระบบจะสงวน Ram ไว้ 303 MB
เพื่อป้องกันเครื่องค้าง
Performance
ขอยกหัวข้อนี้มาเขียนตรงนี้เลยเพราะว่าการที่ C9 Pro พก Ram มาเยอะถึง 6 GB
ทำให้การเปิดแอพลิเคชั่นไว้พร้อมกันมาก ๆ ไม่ทำให้เครื่องช้าลงแต่อย่างใด
จากรูปด้านบนซ้ายสุดจะเป็นการทดลองเปิดแอปต่าง ๆ ที่อยู่ในเครื่องพร้อม ๆ
กันทั้งหมดซึ่งก็ยังเหลือ Ram ให้บริโภคอยู่อีก 2.2 GB
และยังสามารถสลับการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
ได้อย่างสะดวกเพราะแทบไม่เจออาการแอปปิดตัวลงเองเพราะ Ram เต็ม
ชิปเซ็ต Snapdragon 653 จับคู่กับ Ram 6 GB เพียงพอต่อการใช้งาน
สามารถเล่นเกมได้อย่างลื่น ๆ ไม่มีปัญหา เปิดใช้งานแอป 2
หน้าจอก็ไม่มีอาการหน่วงหรือช้าลงแต่อย่างใด
ไหน ๆ
พูดถึงเรื่องเกมแล้วก็ขอย้อนกลับมาดูที่แอปพลิเคชั่นที่ติดมากับตัวเครื่องบ้าง
รีวิวนี้จะขอพูดถึง 2 แอปฯที่น่าสนใจ นั่นก็คือ Game Launcher กับ Secure
Folder
Game Launcher
Game Launcher เป็นแอปฯ ที่จะนำเกมทั้งหมดที่มีอยู่ในเครื่องมาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน โดยความสามารถของ Game Launcher มีดังนี้
- ปิดการแจ้งเตือนขณะเล่นเกม
- ล็อคปุ่ม Capacitive ย้อนกลับและแอปฯ ล่าสุด
- ล็อคการสัมผัสหน้าจอ
- แคปภาพหน้าจอ
- อัดวิดีโอขณะเล่นเกม
Secure Folder
Secure Folder แอปฯ
นี้จะเป็นเสมือนพื้นที่ลับในตัวเครื่องซึ่งแยกออกมาจากพื้นที่ปกติ
โดยการที่จะเข้ามาใน Secure Folder
ได้นั้นต้องทำการใส่รหัสผ่านหรือสแกนลายนิ้วมือก่อน
ซึ่งการที่จะเจาะเข้ามาในนี้นั้นทำได้ค่อนข้างยากเพราะมันทำงานร่วมกับ Knox
ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสุดยอดของ Samsung ที่ยังไม่เคยมีใครแฮ็คได้
โดยความสามารถของ Secure Folder ก็จะมีดังนี้ครับ
- ปกป้องข้อมูลที่เรา
ในกรณีเราไม่ต้องการให้มีคนภายนอกเข้ามายุ่งกับข้อมูลส่วนตัวของเรา
เราก็จัดการลากมาเก็บไว้ในนี้สะไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ แอปฯ บันทึกความจำต่าง ๆ
และอื่น ๆ อีกมากมาย - ล็อคแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
- ใช้งาน 2 บัญชีในแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บนเครื่องเดียวกัน
อันนี้เป็นอะไรที่เป็นประโยชน์มากเพราะทำให้เราไม่จำเป็นต้องพกมือถือ 2
เครื่อง แค่ลงแอปฯ ที่ต้องการจะใช้งานเพิ่มอีก 1 บัญชีลงใน Secure Folder
เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้งานได้ 2 บัญชีในเครื่องเดียว
เหมาะกับคนที่ค้าขายบน Social Network ต่าง ๆ หรือต้องการแยกบัญชี Social
ระหว่างเรื่องส่วนตัวกับที่ทำงาน
รวมไปถึงคนที่มีกิ๊กแล้วไม่อยากให้แฟนของคุณจับได้ (อันนี้ไม่แนะนำนะครับ
ไม่ดี ๆ)
Display
หน้าจอของ C9 Pro เป็นจอ Super AMOLED ขนาด 6.0 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 1920 พิกเซล
สามารถเปิดตัวกรองแสงสีฟ้าเพื่อถนอมสายตาได้ หน้าจอมีอยู่ 4 โหมดคือ
- Adaptive display จอจะปรับสี แสง ความคมชัดให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่กำลังเปิดดูอยู่
- AMOLED cinema จอจะปรับให้สีสันสดใสและสว่าง เหมาะกับเวลาดูหนัง
- AMOLED photo จอจะปรับให้สีอยู่ในพิกัดสีธรรมชาติ เหมาะกับการเปิดดูรูปภาพ
- Basic ไม่มีการปรับแต่งสีสันใด ๆ
มีโหมด Always On Display มาให้ด้วย โดยจะแสดงผลวันที่และเวลา แบตเตอรี่
เพลงที่กำลังเล่น และการแจ้งเตือนต่าง ๆ
ซึ่งในส่วนนี้สามารถไปตั้งค่าเพิ่มเติมได้อีกเยอะเลยครับ
และด้วยขนาดจอที่ใหญ่ถึง 6 นิ้วก็ต้องมีสิ่งนี้ติดมาด้วย นั่นก็คือ
One-handed operation สามารถย่อพื้นที่ใช้งานบนจอให้เล็กลงได้โดยการกดปุ่ม
Home ติดกัน 3 ครั้ง
นอกจากนี้ยังสามารถย่อขนาดคีย์บอร์ด แป้นพิมพ์สำหรับโทรออก หน้าจอรับสาย เครื่องคิดเลข และหน้าปลดล็อคหน้าจอได้ด้วย
อีกหนึ่งความดีงามก็คือแบ่ง 2 หน้าจอเพื่อเล่นแอปฯ 2 แอปฯ ในเวลาเดียวกัน
ด้วยความที่จอมีขนาดใหญ่ทำให้ไม่รู้สึกเกะกะเวลาต้องใช้งาน 2 แอปฯ ไปพร้อม ๆ
กัน นอกจากนี้ยังสามารถย่อขยายได้อย่างอิสระและสลับหน้าจอบนล่างได้อีกด้วย
Sound
เรื่องเสียงยังไม่ได้ทดสอบแบบละเอียดมากนัก
แต่เสียงจากลำโพงและหูฟังก็จัดว่าใช้ได้ ลำโพงคู่สเตริโอเสียงค่อนข้างดัง
Equalizer มีให้ตั้งค่า 2 แบบคือแบบ Basic และ Advance
แต่โหมดที่ผมลองแล้วประทับใจมากที่สุดคือ Concert hall
เวลาเปิดแล้ว soundstage จะกว้างขึ้นมากครับ
Camera
มาดูที่กล้องหลังกันก่อน
โหมดกล้องดูเรียบง่าย ปัดไปทางขวามือจะเป็นโหมดต่าง ๆ ปัดไปด้านซ้ายมือจะเป็นฟิลเตอร์
ความละเอียดของกล้องหน้าและหลังจะเท่ากันที่ 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงขนาด f/1.9 ถ่ายวิดีโอได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1080p
กลับมาดูที่โหมดกันบ้าง น่าเสียดายที่ปรับได้แค่ White balance ISO และชดเชยแสง
หลังจากดูภาพตัวอย่างไปเห็นอะไรแปลก ๆ
ไหมครับ…ถ้ายังไม่เห็นผมเฉลยเลยละกัน
ไฟที่ลุกบนถ่านในเตาปิ้งย่างมันเป็นสีม่วงสะงั้น? ทำเอาสะผมงงตาแตก
(ภาพถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ)
มาดูที่กล้องหน้ากันบ้าง
โดยสามารถนำภาพที่เราเลือกมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ ปรับอัตราส่วน ความไว
ใส่ลายน้ำได้ แล้ว Export ออกมาเป็นไฟล์ .gif ครับ บอกเลยว่าสะดวกมาก
Battery
ตามภาพเลยครับ ไปเที่ยวทะเล 2 วันไม่ได้ชาร์จแบตแม้แต่นิดเดียว
กลับถึงกรุงเทพแบตยังเหลือ ๆ ใช้งานเล่นเฟส เล่นโซเชี่ยลทั่ว ๆ ไป
ถ่ายรูปเป็นส่วนใหญ่ ต่อบลูทูธเปิดเพลงตอนกลางคืน อยู่ได้สบาย ๆ ถึง 2 วัน
ถ้าใช้งานหนักหน่อยก็อาจจะต้องชาร์จวันละครั้ง
Overall
ถ้าพูดถึงในภาพรวมผมมองว่า Galaxy C9 Pro
ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนน่าใช้เครื่องนึง จริงอยู่ที่ว่าค่าตัว 16,990
บาทสำหรับแบรนด์จากประเทศจีนอาจจะให้สเปคที่ดีกว่าแต่ว่าการบริการอื่น ๆ
เช่น Galaxy Gift และฟีเจอร์เฉพาะตัวสำหรับ Samsung ก็ให้มาไม่น้อย
การใช้งานโดยทั่ว ๆ ไปถือว่าดีไม่มีอะไรติดขัด C9 Pro
ทำให้รู้เลยว่าสมาร์ทโฟนที่ให้ Ram มาเยอะนั้นมีข้อดีอย่างไร
ข้อดีผมก็ชมไปข้างบนหมดแล้วก็ขอพูดถึงข้อเสียบ้างนิดหน่อย C9 Pro
จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่หาซื้อได้ค่อนข้างยากเพราะวางจำหน่ายแค่ที่ Samsung
Experience Store เท่านั้น
ในส่วนของตัวเครื่องก็จะมีที่สแกนลายนิ้วมือค่อนข้างติดยากในบางจังหวะและต้องคอยทำความสะอาดบ่อยครั้ง
ใช้ไปสักพักขึ้นเตือนเซนเซอร์สกปรกบ่อยมาก ขอบจอค่อนข้าง sensitive
กับการสัมผัส บางทีเผลอไปแตะโดนนิดหน่อยจนทำให้เลื่อนจอไม่ไป กล้องโหมด Pro
ตั้งค่าต่าง ๆ ได้น้อย และอีกจุดนึงคือเรื่อง software
จริงอยู่ที่ว่าเปิดตัวค่อนข้างช้าแต่ควรจะเป็น Android เวอร์ชั่น 7.0
มาตั้งแต่โรงงานได้แล้ว ในส่วนนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะได้อัพเป็น 7.0
หรือกระโดดข้ามไปเป็น 8.0 เลยหรือไม่
สุดท้ายนี้ขอสรุปในภาพรวมเลยว่า ถึงจะมีข้อติอยู่บ้างแต่ Samsung Galaxy C9 Pro ก็เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นนึงที่น่าคบหาครับ