รีวิว Mokacam กล้อง Action Cam 4K ที่เล็กที่สุดแต่ยิ่งใหญ่จาก Startup

ดูเหมือนนี่จะเป็นปีทองของกล้อง Action Cam ที่ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ก็แห่กันมาเล่นตลาดนี้ แต่ที่ยังไม่เปรี้ยงปร้างในบ้านเราก็คือ Mokacam ที่แม้ว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ประวัติเค้าไม่ธรรมดาเพราะเป็นโปรเจ็คที่ประสบความสำเร็จบน Indiegogo ด้วยยอดเงินลงขันถึง 1,035,392 USD คิดเป็นเงินไทยก็ราว 36,110,849 บาท ถือว่าทะลุเป้าถึง 1334% จนกลายเป็นโปรเจ็คที่โด่งดังในโลก startup ในช่วงเวลานั้น

Mokacam ชูจุดเด่นในเรื่องของความเป็นกล้อง 4K ที่ขนาดเล็กที่สุดในโลกและได้รับรางวัล reddot award 2015 กับแนวคิดแบบ “แม่เหล็ก” ที่สามารถต่อเสริมเพิ่มขยายผ่านระบบแม่เหล็ก และยังมีหน้าจอที่หมุนพลิกมาด้านหน้าได้อีกด้วย
เดิมทีการหาซื้อค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากเป็นโปรเจ็คบน Indiegogo แต่ตอนนี้มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทยก็ทำให้หาซื้อได้ง่ายขึ้น โดยมี 2 แพคเกจให้เลือกซื้อคือ

  1. Full Set ราคา 9,900 บาท
  2. Camera Only ราคา 7,000 บาท

รุ่นที่เราทำการทดสอบคือตัว Full Set ครับ สิ่งที่มีมาให้ในกล่องก็ครบครันพร้อมใช้จริงๆ เพราะมีตัวกล้อง, ฝาปิดเลนส์, สายชาร์จ, แบตเสริม, หน้าจอ, housing, housing สำหรับการต่อแบตเสริม, รีโมท และกล่องสำหรับพกพา

สเป็กกล้อง Mokacam ก็มีใจความสำคัญดังนี้

  • ภาพนิ่งความละเอียดสูงสุด 16 ล้านพิกเซล
  • คลิปวีดีโอความละเอียดสูงสุด 4K, 25 fps และ Full HD, 60 fps
  • รูรับแสง f/2.8 มุมกว้าง 152 องศา
  • มีระบบกันสั่น
  • เชื่อมต่อผ่าน WiFi เข้ากับมือถือและรีโมท
  • ขนาด 45x45x35 มม.
  • น้ำหนัก 79 กรัม
  • สี ดำ, ทอง, เงิน, ชมพู, น้ำเงิน

ตัวกล้องมีขนาดที่เกือบจะเป็นทรงลูกบาศก์ และมีปุ่มควบคุมเพียง 2 ปุ่มเท่านั้นคือ ปุ่ม Power ที่ทำหน้าเปิด-ปิดและถ่ายรูป/คลิป กับปุ่ม WiFi ที่ทำหน้าที่สลับโหมดถ่ายรูป/คลิป/ดูภาพ …อาจเป็นเพราะการออกแบบต้องการให้ทนทานเลยทำให้ปุ่มค่อนข้างแข็งเล็กน้อย ซึ่งปุ่ม Power ที่อยู่ด้านบนเป็นตำแหน่งที่กดได้ไม่ยาก แต่ปุ่ม WiFi ที่วางไว้ด้านข้างก็ค่อนข้างยากเล็กน้อย

ด้านล่างมีช่องสำหรับต่อเข้ากับขาตั้งกล้องได้โดยตรง และด้านข้างเป็นช่องใส่ microSD ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกใช้ความจุไม่เกิน 64 GB กับความเร็วขั้นต่ำ U3 เพื่อให้การบันทึกคลิป 4K ทำได้อย่างลื่นไหล …ส่วนการเชื่อมต่ออื่นๆ ก็มีช่องสำหรับต่อหน้าจอและช่องแบบแม่เหล็กสำหรับต่อแบตเสริม

จุดที่น่าสนใจก็คือความอึดของแบตเตอรี่ที่มีมาให้ในตัวกล้อง 1,000 mAh ในแบตเสริมอีก 1,100 mAh และหน้าจอก็มีอีก 1,100 mAh …รวมกัน 3,200 mAh ถ้าคิดง่ายๆ ก็ความจุพอๆ กับมือถือเลยล่ะครับ ส่วน housing ระบุไว้ในสเป็กว่ากันน้ำได้ลึกถึง 60 เมตรและความดีงามของมันก็คือมีฝาหลังมาให้ 2 ขนาด เผื่อในกรณีที่เราต่อแบตเสริมเข้าไปด้วย

ส่วนของแบตเสริมที่ยึดติดกันด้วยแม่เหล็ก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทาง Mokacam หยิบมาชูโรงก็สามารถต่อยอดอย่างอื่นได้อีก แม้ว่า ณ วันที่เขียนรีวิวชิ้นนี้ยังไม่มีอุปกรณ์เสริมจาก 3rd party ทำให้การใช้จริงมีเพียงแค่แบตเสริมเท่านั้นที่ใช้ร่วมกับการเชื่อมต่อนี้ แต่เพราะความเป็นแม่เหล็กเลยสามารถนำไปยึดติดกับวัสดุที่เป็นเหล็กแทนการใช้ขาตั้งกล้องได้ หรือจะประยุกต์ใช้แบบผมก็ได้… ด้วยการนำสายสะพายกระเป๋ามาคั่นกลางระหว่างกล้องและแบตเสริม

จุดเด่นอีกอย่างก็คือการต่อขยายหน้าจอที่หมุนพลิกมาด้านหน้าได้ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานไม่ว่าจะเป็นการ selfie หรือการถ่ายคลิปที่ง่ายขึ้น …ซึ่งผมยังไม่เห็นของแบบนี้จาก Yi หรือ GoPro และตัวหน้าจอก็มีปุ่มควบคุมสำหรับการตั้งค่าเมนูต่างๆ เช่น ตั้งค่ากันสั่น, timelapse, slow motion, motion detector, loop record, ตั้งค่าไฟสถานะ LED …ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ motion detector ที่คู่แข่งไม่มี

จุดที่ขัดใจก็คือการหมุนฝาปิดเพื่อต่อหน้าจอไม่สามารถหมุนได้ด้วยมือเปล่า เท่าที่ลองสอบถามไปยังทีม Mokacam ได้คำตอบว่าเดิมทีต้องการชูจุดเด่นในความเป็นกล้อง 4K ที่เล็กที่สุดเลยมองหน้าจอเป็นแค่ส่วนเสริมที่ใช้ในการตั้งค่ามากกว่าจะใช้เป็น viewfinder แต่ยังโชคดีที่ว่าการหมุนฝาเปิดช่องนี้สามารถใช้เหรียญเงินหมุนออกได้

แม้ว่าจะสั่งงานผ่านมือถือได้แต่ก็คล้ายกับ Action Cam รุ่นอื่นๆ เพราะตัวแอพไม่สามารถเข้าถึงการตั้งค่าทุกอย่างได้ ถ้าต้องการจะตั้งค่าลึกๆ ต้องทำผ่านตัวกล้องโดยตรง …และก็อาจเป็นเพราะ Mokacam มีจุดกำเนิดจาก Indiegogo ซึ่งเป็น Startup ทำให้ Software ณ วันทดสอบดูไม่สวยเท่าไร และยังมีอะไรบางอย่างที่ดูแล้วงงอย่างเช่นความละเอียดกล้องที่ตั้งสูงสุดได้ 20 ล้านพิกเซล ซึ่งขัดแย้งกับสเป็กที่ระบุไว้ว่า 16 ล้านพิกเซล …แต่การสั่งถ่ายรูป/คลิปก็ทำได้ปรกติดี

รีโมทสามารถสลับโหลดระหว่างภาพนิ่งและคลิปได้ สั่งให้เริ่มถ่ายและหยุดได้ และยังมีปุ่มที่หน้าตาเหมือนแม่กุญแจที่ใช้บันทึกคลิปเหมือนกันเพียงแต่ไฟล์ที่ได้จะอยู่ในสถานะ Protect ที่ป้องกันการลบโดยไม่ตั้งใจ

ถ้าอยากจะเอาไปติดกับหมวกหรืออุปกรณ์ในเชิง Sport ก็มีตัว mount มาให้ด้วย… บอกแล้วว่ามาครบจริงๆ
ในวันแรกที่ได้มาลองใช้ก็ต้องยอมรับว่ามันทำเอาผมหงุดหงิดไม่น้อย เพราะตอนนั้น Software ยังมีปัญหาอยู่ ถ่ายคลิปยาวๆ แล้วค้าง ( ตอนหลังเค้าอัพเดทแก้แล้ว ) รวมถึงเรื่องปุ่มที่แข็งกดยากและการเปิดฝาต่อจอก็ไม่ง่าย แต่พอใช้ไปสักพักแล้วกลับรู้สึกชอบมันมากๆ เพราะมันเปิดเครื่องได้เร็วพอๆ กับ Yi 4K แต่มีหน้าจอที่หมุนได้ทำให้ถ่ายมุมแปลกๆ ได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้ตั้งกล้องถ่าย timelapse ได้โดยไม่ต้องกังวลหรือเดินไปเช็คหน้าจอหลังกล้องบ่อยๆ ว่าแบตหมดรึยัง เพราะสามารถมองเห็นหน้าจอได้ในขณะถ่าย

และหน้าจอที่ถอดออกได้ก็เหมาะสำหรับการติดตั้งในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงกับการกระแทก อย่างเช่นติดไว้บนจักรยานหรือตัวรถที่อาจโดนเศษหินกระเด็นใส่หน้าจอ

ด้วยราคาขนาดนี้ที่มีมาให้ครบเช็ตจริงๆ แบบที่ไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่ม ในขณะที่คู่แข่งอาจจะต้องซื้อรีโมทหรือฝาปิดเลนส์และกระเป๋าแยกต่างหาก ทำให้ Mokacam เป็นกล้อง Action Cam ที่แกะกล่องแล้วพร้อมลุยได้ทันที …และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในราคาระดับนี้ก็ชนกับ Yi 4K โดยตรง ซึ่งก็คงต้องบอกว่ามันถูกออกแบบมาให้ใช้งานกันคนละประเภทเลยครับ

Yi 4K คล้ายกับกล้อง Compact ย่อส่วนที่สามารถกดจิ้มหน้าจอสั่งการได้ง่าย ถ้ากลัวแบตหมดก็ต้องเสียบ Power Bank แต่ Mokacam มีความเป็น Action Cam สูงกว่า มีการใช้งานที่ยืดหยุ่นหลากหลายกว่าทั้งการถอด/ใส่หน้าจอ การเพิ่มแบตเสริมหรือการนำไปติดกับเหล็ก

ถ้าคุณเป็นประเภทว่าเน้นง่ายเข้าว่า ไม่เน้นอุปกรณ์ ชอบพกตัวเดียวแบบหยิบแล้วพร้อมใช้ก็คงต้อง Yi 4K แต่ถ้าเน้นการประยุกต์ใช้ก็คงต้องเลือก Mokacam ล่ะครับ …แค่หมุนจอได้ก็โดนใจผมแล้ว และรุ่นนี้ก็สามารถเปิดโหมด Lens Distortion Correction ที่ช่วยลดความบิดเบี้ยวบริเวณขอบภาพ อันเนื่องมาจากมุมมองของกล้องที่กว้างมากๆ

ส่วนเรื่องของคุณภาพไฟล์ก็จัดว่าทำได้ดีไม่แพ้คู่แข่งทั้งภาพนิ่งและคลิปล่ะครับ

อ่อ… ถ้าสนใจแต่หาซื้อไม่ได้ สามารถสอบถามมายังเฟซบุ๊ค NuaNia ได้ครับ