รีวิว Sony Xperia X Compact กับการพัฒนาไปอีกขั้น

หลังจากที่แผนการซื้อมือถือผมผิดเพี้ยนเพราะขายเครื่องเก่าเพื่อรอ Galaxy Note 7 แต่แล้วพี่ท่านก็ไม่มาตามนัด ผมก็มองหาตัวเลือกใหม่จนเจอ Xperia X Compact ลองเล่นอยู่ประมาณ 20 นาทีและก็ตัดสินใจซื้อทันที แม้ว่าสเป็กบางส่วนจะดูขาดๆ เกินๆ แต่แรกจับทำเอาผมประทับใจจนตัดสินใจจ่ายเงินได้ไม่ยาก

สเป็กของ Xperia X Compact

    • ชิปเซ็ต Snapdragon 650
    • แรม 3 GB
    • หน่วยความจำภายใน 32 GB รองรับ microSD
    • หน้าจอขนาด 4.6 นิ้ว ความละเอียด HD
    • กล้องหลังความละเอียด 23 ล้านพิกเซล
    • กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
    • น้ำหนัก 135 กรัม
    • แบตเตอรี่ 2,700 mAh พร้อมระบบ Qnovo
img_3531_

รูปลักษณ์ภายนอกทำเอาคนหลงไหลกันได้ง่ายๆ ด้วยงานประกอบที่ประณีตในแบบฉบับของ Sony สัดส่วนความโค้งมนทำออกมาได้แบบเต็มร้อยให้ร้อย วัสดุให้ความรู้สึกกล้าหยิบกล้าใช้แบบไม่ใส่เคส และแม้ว่าผมจะได้เคส krusell แถมจากการซื้อในงาน Thailand Mobile Expo 2016 รวมถึงฟิล์มกันรอยหน้าจอ แต่สุดท้ายผมก็เลือกใช้งานแบบไม่ใส่เคสและไม่แปะฟิล์ม เพราะตัวเครื่องเดิมๆ ให้สัมผัสที่ดีกว่า แต่ถ้ากลัวเป็นรอยก็ใส่เคสเถอะ …จุดน่าสนใจเล็กๆ ก็คือตัวเครื่องสีดำเปื้อนรอยนิ้วมือง่ายกว่า ทำให้หลายคนเลือกซื้อสีขาวแทน

img_3537_

ความดีงามอีกอย่างก็คือปุ่มต่างๆ ถูกเรียงไว้ด้านขวาหมด ทำให้การวางตัวเครื่องตั้งกับโต๊ะเพื่อถ่ายรูปทำได้ง่ายเพราะไม่ไปโดนปุ่ม และถาดซิมของรุ่นนี้ก็ไม่ต้องใช้เข็มจิ้มแต่อย่างใด เพราะสามารถดึงออกมาได้เลย แต่ความแน่นหนึบก็มาพอที่จะไม่หลุดออกมาง่ายๆ

เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือยังคงวางไว้บนปุ่ม Power ที่อยู่ด้านข้าง ซึ่งการใช้งานจริงเรียกว่าประทับใจมาก สแกนติดแทบจะ 100% ต่างจาก iPhone 6s ที่มักมีปัญหาปุ่มที่เปื้อนความมันเลยสแกนไม่ติด หรือแม้แต่ Galaxy S7 ที่สแกนช้าไปหน่อย …โดยรวมแล้ว Xperia X Compact สแกนได้แม่นยำและรวดเร็วใกล้เคียงกับปุ่มสแกนแบบ Hardware แยกอย่างเช่น Huawei P9 หรือ Nexus 6P เลย

xperia x compact

ถัดมาก็เป็นปุ่มปรับเสียงและปุ่มชัตเตอร์ เดิมทีผมก็ขัดใจกับรูปแบบการจัดวางปุ่มปรับเสียงที่วางไว้ต่ำแบบนี้ แต่พอใช้ไปสักพักถึงเข้าใจว่ามันทำให้การถ่ายรูปด้วยมือเดียวทำได้ง่าย เพราะมีปุ่มชัตเตอร์ไว้ถ่าย มีปุ่มปรับเสียงที่ทำหน้าที่เป็นปุ่มซูม และพื้นที่ด้านล่างใต้จอที่หลายคนบ่นว่าจะเว้นไว้ทำไม มันก็มีประโยชน์ตอนถ่ายรูปนี่แหละครับ เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ว่างแบบนี้จะทำให้มือไปโดนปุ่มต่างๆ บนหน้าจอ …เรียกได้ว่าในแง่ Ergonomic และ UX ทำออกมาได้ประทับใจมาก คิดเผื่อแม้กระทั่งการต่อไมค์ที่ไม่รบกวนการถือหรือบังตัวกล้อง

img_3532_

แผ่นหลังนอกจากตัวกล้องก็มีระบบ Triple image sensing technology กับ Predictive Hybrid Autofocus และอีกหลากหลายเทคโนโลยีที่ช่วยให้โฟกัสเร็วและได้สีสันที่ถูกต้อง และถัดลงมาก็เป็นส่วนของ NFC …ด้วยความสงสัยผมเลยถามทาง Sony ว่าทำไม NFC บางรุ่นถึงย้ายไปไว้ด้านหน้า สาเหตุก็เพราะวัสดุที่ทำแผ่นหลังของบางรุ่นไม่เหมาะจะใช้ NFC ครับ

img_3533_

ลำโพงที่แม้ว่าจะเป็นแบบคู่กับทิศทางเสียงที่พุ่งเข้าหาเราซึ่งให้มิติที่ดีมากๆ แถมยังให้รายละเอียดที่ค่อนข้างดี แต่เสียงเบาไปนิดไม่สะใจเท่าที่ควร ซึ่งก็ชดเชยด้วยระบบเสียงทั้ง High-Resolution Audio (LPCM, FLAC, ALAC, DSD) ที่รองรับไฟล์คุณภาพสูง DSEE HX ที่ช่วยรีดประสิทธิภาพไฟล์เสียงที่ถูกบีบอัดให้ออกมาดีขึ้น LDAC ที่ใช้งานร่วมกับหูฟังบลูทูธของ Sony แล้วได้เสียงคุณภาพดีกว่าระบบทั่วไป

screen-shot-2016-06-18-at-12-43-37

และที่เด็ดสุดคือ Stereo recording ซึ่งนอกจากจะบันทึกเสียงผ่านตัวเครื่องแบบ stereo แล้วเท่าที่ผมเคยพยายามหาข้อมูลก็พบว่า Sony เป็นค่ายเดียวที่รองรับการต่อไมค์แบบ stereo ผ่านช่องหูฟัง 3.5 มม. โดยตรงแบบไม่ต้องผ่าน mixer

img_3541_

การเลือกใช้ความละเอียด HD บนหน้าจอขนาด 4.6 นิ้วดูจะไม่ใช่ปัญหาอะไร เนื่องจากหน้าจอให้สีสันความคมชัดที่ดีอยู่แล้ว และการเลือกใช้จอแบบ HD ทำให้เครื่องทำงานน้อย ส่งผลให้ลื่นไหลและประหยัดแบตเตอรี่กว่า …จะเห็นว่าช่วงหลังก็เริ่มมีเรือธงที่ปรับลดความละเอียดหน้าจอให้เหลือ HD ได้อย่างเช่น Huawei และ Samsung เพื่อลดภาระการทำงาน

img_3530_

วันแรกที่แกะกล่องเริ่มใช้งานก็เหมือนสไตล์มือถือเรือธงปี 2016 ก็คือเครื่องจะร้อนและกระตุกในช่วงแรกเนื่องจากทำการจัดสิ่งต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางสำหรับการเริ่มใช้งาน หลังจากนั้นก็ลื่นไหลไม่มีปัญหา ( แต่นี่มันไม่ใช่เรือธงเฟ้ย !! )

ความเร็วในการใช้จริงจัดว่าลื่นไหลเกินคาด ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ Sony ที่ทำ Software ออกมาได้ดีแบบที่ครั้งหนึ่ง Google ถึงกับเอ่ยปากชมว่าเป็น Android ที่ Software ดีที่สุด และเวลามีการเก็บสถิติ Sony ก็มักจะเป็นค่ายที่มีปัญหาน้อยที่สุด …และนอกจากการใช้งานทั่วไป ผมก็ลองทดสอบเล่นเกม EvilBane ก็ลื่นไหลดีไม่มีอะไรทำให้ขัดใจ

เรื่องของแบตเตอรี่กับระบบ Qnovo และ Battery Care ถ้าพูดรวมๆ ก็คือมันช่วยให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพช้าลง โดย Xperia X Compact จะเรียนรู้พฤติกรรมการชาร์จของเรา และเมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็จะให้เราเปิดใช้ระบบนี้ได้ ซึ่งมันจะชาร์จถึงแค่ 90% อยู่แบบนั้นและจะคำนวณเวลาที่เราจะถอดปลั๊กเพื่อเริ่มชาร์จให้เต็ม 100% …เราจะเลือกใช้โหมดนี้หรือไม่ก็ตามสะดวก

สาเหตุที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่าในทางทฤษฎีแล้วการชาร์จเต็ม 100% และเสียบค้างไว้แบบนั้นจะทำให้แบตเตอรี่มีโอกาสเสื่อมเร็วกว่า ระบบนี้เลยล็อกไว้แค่ 90% และจะชาร์จให้เต็ม 100% ตอนที่เราใกล้จะถอดปลั๊ก ( Samsung Ultrabook ที่ผมเคยใช้ก็มีระบบคล้ายแบบนี้ครับ แต่อันนั้นเค้าล็อกเลยว่าให้ชาร์จได้แค่ 90% ไม่เปิดโอกาสให้ชาร์จเต็ม 100% )

แม้ว่าในกล่องจะไม่มี Adaptor Quick Charge มาให้ แต่ข้อมูลบอกว่ารุ่นนี้รองรับ Quick Charge ผมก็ลองทดสอบเอา Adaptor Quick Charge 3.0 มาชาร์จก็พบว่ามันเร็วขึ้นจริงๆ เพียงแต่บนหน้าจอจะไม่เขียนบอกว่าเป็น Fast Charge เหมือนรุ่นอื่นๆ …ส่วนเรื่องของความอึดจัดว่าหายห่วงสำหรับค่ายนี้ ด้วยสถิติค่าเฉลี่ยแบตเตอรี่อึดที่สุดในบรรดามือถือทุกค่าย ยิ่งเปิด Stamina Mode ก็ช่วยให้อึดขึ้นไปอีก

img_3535_

UI ต่างๆ มีความเป็น Pure Android ที่มีกลิ่นอารยธรรมผสมผสานลงไป และยังเป็นรุ่นแรกที่ผนวกเอาระบบของ Google Now มาไว้ที่หน้าซ้ายสุดของ Launcher ทำให้ได้ใกล้ชิดกับความฉลาดของ Google มากขึ้น ทั้งการแจ้งเตือนที่ดึงมาจากระบบต่างๆ อย่างเช่น Gmail ทั้งการชำระค่าบริการโทรศัพท์ หรือข่าวจากสำนักต่างๆ …ถ้าใครไม่ชอบก็เลือกปิดได้ครับ

img_3540_

มาถึงเรื่องกล้องที่บรรดาสาวกเองยังลุ้นจนเหนื่อย ก็เริ่มพัฒนาดีขึ้นตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก Z series มาเป็น X series และคงต้องบอกว่า Xperia X Compact เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดทั้งภาพนิ่งและคลิปวีดีโอ

สิ่งแรกที่ผมชอบก็คือการเข้ากล้องที่รวดเร็วโดยการกดปุ่ม Power ติดกัน 2 ครั้งหรือจะกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ก็ได้ และการกดชัตเตอร์ค้างยังตั้งค่าได้อีก 3 แบบคือ

    1. เปิดแอพกล้อง
    1. เปิดแอพกล้องและถ่ายรูป
    1. เปิดแอพกล้องและถ่ายคลิปวีดีโอ

ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอก็มีระบบโฟกัสแบบติดตามวัตถุที่เก่งมากๆ ซึ่งผมเคยทดสอบบนรุ่น Xperia X แต่ตอนนั้นทำได้ไม่น่าประทับใจเท่าไร ต่างจากบน Xperia X Compact ที่ฉลาดมาก และระบบนี้ไม่ได้แค่ติดตามวัตถุเท่านั้นเพราะมันยังคาดเดาทิศทางล่วงหน้าอีกด้วย ซึ่งเหมาะจะใช้กับวัตถุที่เคลื่อนที่เป็นเส้นตรงเช่น คนวิ่ง รถแข่ง ฯลฯ …ผมลองทดสอบกดโฟกัสรถยนต์ที่ผ่านไปมาบนถนน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดีครับ ฉากหลังเบลอเพราะหมุนกล้องแพนตามรถ ส่วนตัวรถที่ถูกล็อกโฟกัสก็ค่อนข้างคมชัด

dsc_0121

ในรุ่นก่อนๆ มักมีปัญหาเรื่องสีสันที่ผิดเพี้ยน ดังนั้นการมาของเซ็นเซอร์วัดแสงสีก็ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ส่งผลให้รุ่นนี้สีสันออกมาใกล้เคียงที่ตามองเห็น จัดว่าน่าประทับใจมาก

ข้อเสียเล็กๆ คือแม้ว่าเราจะสามารถกดถ่ายรัวๆ ได้อย่างต่อเนื่องแบบไม่มีหยุด แต่ถ้าคิดจะเปิดภาพขึ้นมาดูก็ต้องรอให้ประมวลผลก่อนนิดนึง เพื่อให้ภาพคมชัดกว่าเดิม ( ผมเคยทดสอบเอาไฟล์ดิบแบบ RAW จาก Galaxy S7 มาดูพบว่ามันห่วยมากๆ ไม่เหมือนของ Huawei P9 แต่ภาพที่ประมวลผลให้เราได้ใช้จริงมันคมกริบ ซึ่ง Xperia X Compact ก็เป็นลักษณะนั้นเลยต้องรอให้มันประมวลผลก่อนแปบนึง )

img_3538_

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ Xperia X Compact เป็นรุ่นแรกของค่ายที่มีระบบโฟกัสพร้อมกับวัดแสงให้เลือกใช้ ( โอ้วเย ชาวบ้านเค้ามีตั้งนานแล้ว ) ดังนั้นการถ่ายป้ายร้านอาหารยามค่ำคืนหรือเลือกจุดวัดแสงก็ทำได้สวยขึ้น แต่น่าเสียดายตรงที่โหมดติดตามวัตถุกับโหมดวัดแสงไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ …ซึ่งค่ายอื่นก็มักจะเป็นแบบนี้เช่นกัน

dsc_0012-vs23m

อีกจุดที่น่าสนใจก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา Xperia จะถ่ายภาพได้ดีสุดที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซลตามที่ผมเคยรีวิว Xperia X ไว้ก่อนหน้านี้

dsc_0153-side_

แต่ผมได้ทดสอบ Xperia X Compact ที่ความละเอียดทุกขนาดแล้วพบว่ามันเก่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะถ่ายภาพที่ความละเอียดไหนก็ให้สีสันความสว่างใกล้เคียง 8 ล้านพิกเซลแล้ว แต่ถ้าเลือกเป็นความละเอียดที่สูงกว่า 8 ล้านพิกเซลและตั้งค่าให้บันทึกลง microSD ก็แอบกระตุกเล็กๆ อยู่เหมือนกัน …คำถามคือ “รุ่นนี้ควรใช้ความละเอียดเท่าไร?”

dsc_0110-side

เรื่องของความละเอียดที่น่าใช้ที่สุดของรุ่นนี้อาจขึ้นอยู่กับการซูมก็เป็นได้ ซึ่งรุ่นนี้อัดมาให้สูงสุดที่ 8x แต่ถ้าเป็น Clear Image Zoom ที่ 5x เท่านั้น ดังนั้นถ้าจะซูมแบบหวังผลความชัดเจนก็ไม่ควรเกิน 5x แต่ถ้าเป้าหมายมีรายละเอียดไม่มากนัก และมือเรานิ่งพอก็สามารถดันไปที่ 8x ได้ครับ

dsc_0111-side

collage5x

ในระยะการซูม 5x ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ระหว่างความละเอียดทั้งสองจะไม่ต่างกันมากนัก แม้จะตัดออกมาเทียบก็ยังดูใกล้เคียงกัน ดังนั้นเราจะไปต่อปลายทางที่ 8x

dsc_0112-side

collage8x

พอลากมาถึงสถานีปลายทางก็ดูเหมือนเราจะเห็นผู้ชนะแล้วว่า ความละเอียดที่สูงกว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า และเมื่อดูจากแสงสีในภาพรวมแล้วผมแนะนำให้ใช้ความละเอียด 20 หรือ 23 ล้านพิกเซลหากเน้นคุณภาพ

การเก็บรายละเอียด detail ต่างๆ ของภาพทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ แต่ก็ยังไม่คมบาดใจเมื่อขยายดูภาพขนาด 100% …ส่วนเรื่องของ Manual Mode แม้จะมีมาให้แต่ก็ไม่ค่อยโดนใจสาวกเพราะลากชัตเตอร์ได้เพียง 1 วินาทีเท่านั้น ส่วนแอพกล้องอื่นๆ ที่โหลดเพิ่มได้ก็มีตัวเด่นๆ อย่างเช่น Style Portrait ที่เหมือนโหมดแต่งหน้าทาปาก Timeshift burst นี่ก็นับเป็นจุดเด่นมายาวนานเพราะกดแช๊ะเดียวได้ออกมาราวๆ 61 รูป เหมาะสำหรับการถ่ายช็อตสำคัญที่เร็วมากๆ และ Timeshift Video ที่ดึง slow motion ได้เป็นช่วงๆ ตามต้องการ

screenshot_20161006-171814

ในการใช้งานจริงแบบ Point n’ Shoot ประเภทว่าตั้งโหมด Auto หยิบแล้วยิงโดยไม่คิด ก็พบว่ามันเลือก scene ได้ฉลาดและแม่นยำกว่าเดิม ช่วยให้ภาพออกมาดูดีกว่ารุ่นก่อนๆ อย่างเช่นโหมดอาหารที่จะเร่งสีให้ดูจัดจ้านมากขึ้น

*** หมายเหตุ ***

การทดสอบครั้งนี้ใช้ iPhone 6s เป็นตัวอ้างอิง เนื่องด้วยไม่มีรุ่นอื่นในมือให้เทียบ และช่วงนี้ฝนตกหนักเลยทดสอบได้ไม่เยอะ

img_4143-side

dsc_0020

dsc_0096

สภาพแสงไฟในร้านอาหาร 2 รูปนี้ผมต้องการทดสอบการเก็บรายละเอียดของอาหารและลายไม้ครับ ซึ่งก็ทำออกมาได้ค่อนข้างดี

dsc_0080

dsc_0081

รูปถัดไปถ่ายจากในงานแต่งซึ่งเป็นแสงไฟแบบโรงแรม และซูมไปประมาณ 3x-4x เพื่อถ่ายรูปคู่รัก รูปที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีสำหรับมือถือกับสภาพแสงแบบนี้และยังต้องซูมอีก

dsc_0084

ในที่แสงน้อยก็ยังทำได้ดี และดูเหมือนจะดีกว่ารุ่นก่อนๆ ด้วย ไม่อมเขียว และดูคมกว่าแต่ก่อน

img_8912-side

ที่เหลือก็เป็นการหยิบยิงไปเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย …โอ้วเย ɿ(。・ɜ・)ɾ ♡

dsc_0114

dsc_0117

dsc_0125

dsc_0130

dsc_0131

dsc_0132

เรื่องของการถ่ายวีดีโอดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาของค่ายนี้ เพราะมักมีปัญหาความร้อนจนกล้องปิดตัวแต่สำหรับรุ่นนี้ เท่าที่ได้ทดสอบก็ถ่ายวีดีโอต่อเนื่องได้ราว 30 นาที และการที่รุ่นนี้ใส่ระบบกันสั่นมาให้ 5 แกนก็ทำให้คลิปดูเนียนตาขึ้น ซึ่งเป็นมือถือรุ่นแรกที่มีระบบกันสั่น 5 แกน

แต่ที่ต้องย้ำก็คือถ้าคิดจะใช้ microSD แนะคำว่าให้เลือกความเร็วแบบ U3 เพราะผมได้ทดสอบแบบ Class 10 ทั่วไปแล้วพบว่าการถ่ายคลิปดูกระตุกแบบเห็นได้ชัด แต่พอเปลี่ยนมาใช้แบบ U3 ที่เร็วกว่าก็ดูเนียนตามากขึ้น …อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แนะนำให้บันทึกลงบนหน่วยความจำบนตัวเครื่องครับ

สิ่งที่เห็นได้จากการทดสอบนี้ก็คือ Xperia X Compact จับโฟกัสได้เร็วมาก สลับระหว่างฉากหลังกับมือที่ยกขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และโดยรวมก็ดูนิ่งมาก แต่จะเห็นว่าช่วงต้นของคลิปมีอาการกระตุกให้เห็น ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร หรืออาจเป็นเพราะผมทดสอบเครื่องหนักๆ อย่างต่อเนื่องก็เป็นได้ เนื่องด้วยก่อนหน้านั้นผมพึ่งทดสอบเปิดเครื่องถ่ายวีดีโอทิ้งไว้ เพื่อดูว่าจะมีปัญหาความร้อนเหมือนรุ่นก่อนๆ รึเปล่า และผลก็คือถ่ายได้ 32:09 นาทีก่อนที่เครื่องจะบังคับปิดแอพกล้อง

screenshot_20161006-190348

ผมได้พูดคุยกับพี่ออม GadzBox เรื่องวีดีโอกระตุก และพี่ออมให้ความเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าอาจจะเกิดจากแรมเต็ม เพราะอาการนี้เคยเป็นบน Nexus 6P ของพี่ออม วิธีแก้ไขคือปิดแอพอื่นๆ ก่อนใช้งานกล้อง ถ้าเอาชัวร์กว่านั้นก็เปิดโหมดเครื่องบินเพื่อลดภาระการทำงานของแอพที่ต้องส่งข้อมูล เนื่องจากการจัดลำดับความสำคัญของแอพกล้องไม่ได้อยู่สูงสุด ทำให้ถูกแย่งทรัพยากร …อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น

ส่วนกล้องหน้ากับความละเอียด 5 ล้านพิกเซลก็อยู่ในเกณฑ์ทั่วไปที่ต้องการแสงเพียงพอในการถ่ายแบบหวังผล แต่จุดดีก็คือกล้องหน้าก็มีระบบวีดีโอกันสั่นด้วยเช่นกัน

บทสรุป

ถ้ามองกันที่สเป็กก็คงต้องบอกว่าแพงไปนิดสำหรับ Xperia X Compact แต่ถ้าวัดที่การใช้งานจริงก็ถือว่าสมเหตุสมผลทั้งความลื่นไหล วัสดุ ระบบเสียงและกล้องที่มีดีให้สู้กับเรือธงค่ายอื่น ถึงขั้นที่ว่าตอนนี้ผมเลือกใช้ Xperia X Compact เป็นมือถือหลักในการถ่ายรูปไปแล้ว แม้ว่าลำโพงจะไม่ดังมาก แต่สำหรับการใช้งานในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างเงียบก็จัดว่าลำโพงดังเหลือเฟือ ดังนั้นในภาพรวมเทียบกับราคาเปิดตัว 16,900 บาท ผมถือว่าตอบโจทย์คนที่ต้องการมือถือเครื่องเล็กสเป็กดี ใช้งานจริงลื่นไหลครับ