Whoscall เดินสายพบภาครัฐ ส่งมอบรายงานประจำปี 67 สานต่อความร่วมมือ ยกระดับการป้องกันและเตือนภัยมิจฉาชีพออนไลน์

  • Whoscall ส่งรายงานและพบภาครัฐ: Whoscall ส่งมอบรายงานประจำปี 2567 ให้หน่วยงานรัฐหลายแห่ง เช่น กสทช., สกมช. และ บช.สอท. เพื่อสานความร่วมมือด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ในไทย
  • ปัญหาการหลอกลวงยังคงสูง: รายงานเผยว่าคนไทยถูกหลอกลวงผ่านสายโทรศัพท์และ SMS กว่า 168 ล้านครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดผ่านข้อความ SMS
  • กลลวงที่พบมากที่สุด: การหลอกขายของปลอม, การแอบอ้างเป็นหน่วยงาน, การหลอกทวงเงิน และหลอกว่าเป็นหนี้ เป็นกลโกงที่พบบ่อย
  • การร่วมมือรณรงค์: Whoscall ร่วมมือกับรัฐและเอกชนในการจัดแคมเปญรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ พร้อมพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่ครอบคลุม
  • เป้าหมายลดภัยคุกคามไซเบอร์: หน่วยงานต่างๆ เน้นการสร้างกลไกเฝ้าระวังและป้องกันภัยไซเบอร์ รวมถึงขยายความรู้ให้ประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

บริษัทโกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น ชั้นนำ (TrustTech) และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ได้ส่งมอบรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์ กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทย ให้แก่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการการรักษา ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบัญชาการการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อสานต่อความร่วมมือในการป้องกันภัยไซเบอร์ ให้กับประชาชนไทย

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2567 พบว่าคนไทยได้รับการหลอกลวงผ่านสายโทรศัพท์และข้อความ SMS  รวมกว่า 168 ล้านครั้ง โดยจำนวนนี้เป็นการหลอกลวงผ่านข้อความ SMS มากถึง 130 ล้านครั้ง  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่า กลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง โดยกลลวงที่ตรวจพบมากที่สุดในปี ที่ผ่านมาได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลอกว่า มีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน และการหลอกว่าเป็นหนี้สอดคล้องกับสถิติการแจ้งความออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างเดือนมกราคม 65 ถึง เดือนธันวาคม 2567 ที่พบว่าคดีที่เกี่ยวข้อง การหลอกลวงให้ซื้อขายสินค้าหรือบริการแบบไม่เป็นขบวนการ การหลอกให้โอนเงิน และหลอกให้กู้เงิน เป็นคดีที่ถูกรายงานเข้ามา ในระบบมากที่สุด กว่า 534,000 คดี เป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 27,000 ล้านบาท 

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็น ส่วนหนึ่งในการมอบความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพให้แก่ประชาชนและองค์กรต่างๆ การพบปะกับหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้ เราได้ถือโอกาสเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ แคมเปญรณรงค์ที่กำลังจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 2 นี้ เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อน สังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ ผ่านการสร้างความตระหนักรู้และเทคโนโลยี ที่ทางแอปพลิเคชัน Whoscall ตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อให้บริการผู้ใช้ในไทยโดยเฉพาะ”

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า“สกมช.มุ่งเน้นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการผ่านการทำงาน ร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างกลไกเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริม ให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงจากภัยคุกคาม ทางไซเบอร์ โดย สกมช. พร้อมเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับ Whoscall เพื่อขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังภัย และยกระดับการแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนผ่านกลไกของภาครัฐและแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียง การแจ้งเตือนเบอร์โทรศัพท์หรือข้อความ SMS เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงลิงก์อันตรายและภัยคุกคามทางดิจิทัล ในทุกรูปแบบ ซึ่งเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนากลไกการป้องกันภัยไซเบอร์ให้รัดกุมและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล ทรัพย์สิน และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งนี้ สกมช. พร้อมเป็นกำลังสนับสนุนในการเฝ้าระวังและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างทันท่วงที เราเชื่อว่าความร่วมมือ อย่างเข้มแข็งจากทุกฝ่ายจะช่วยสร้างเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง และนำไปสู่สังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้น”

พลตำรวจโท ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า “ภัยอาชญกรรมทางไซเบอร์ถือเป็นวาระแห่งชาติของประเทศ  ที่ทั้งรัฐและ เอกชน ต้องผนึกความร่วมมือในการลดอัตราการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแนวโน้มลดลงเหลือเฉลี่ยที่วันละ 900 คดี โดยเราพร้อมให้ความร่วมมือกับ Whoscall ในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ผ่านแคมเปญรณรงค์ของทั้งสององค์กร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ทาง บช.สอท. จะรับเรื่องและข้อมูลลิงก์อันตรายที่ Whoscall ตรวจพบ เพื่อนำไปสู่การเร่งปราบปราม ปัญหาการหลอกลวงผ่านลิงก์ออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการโจรกรรมข้อมูล หลอก ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่อง หรือสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้ เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจึงมุ่งมั่นร่วมกันในการปกป้องประชาชนชาวไทยจากภัยไซเบอร์”

Whoscall ได้ทำการสำรวจและจัดทำรายงานประจำปีเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2563 ผ่านการรายงานจากสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ต่างๆ รวมถึง ข้อมูลใหม่ที่เพิ่มมาจากฟีเจอร์ ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหลที่เปิดให้ผู้ใช้งาน Whoscall ได้ใช้งานเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา สามารถดูรายงานเพิ่มเติม ได้ที่ https://whoscall.com/th/blog