ฟีเจอร์ดึงพื้นที่ในเครื่องมาทำเป็นแรมทำงานอย่างไร ทำให้เครื่องช้าลงจริงไหม?

สมาร์ทโฟน Android ในช่วง 1-2 ปีนี้เริ่มมีการนำฟีเจอร์ “ดึงพื้นที่ในเครื่องมาทำเป็นแรม” มาใช้ในการโฆษณา เรียกกันหลากหลายชื่อ เช่น Extended RAM, Extra RAM เป็นต้น ซึ่งก็มีการตั้งข้อสงสัยกันว่าฟีเจอร์นี้จะทำให้เครื่องช้าลง เนื่องจากเทคโนโลยีพื้นที่เก็บข้อมูลไม่ได้ออกแบบมาให้เขียนอ่านแบบสุ่มได้รวดเร็วเท่าแรม ดังนั้นอาจจะไปดึงความเร็วของทั้งระบบลงได้ จะจริงหรือไม่ มาดูกันครับ

การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องค่อยๆ มาดูกระบวนการทำงานของ Android เมื่อเปิดแอปก่อน ปกติแอป Android จะอยู่ในพื้นที่เก็บข้อมูลเครื่อง เมื่อเรากดเปิดแอป ตัวแอปจะทำการคอมไพล์ออกมาเป็นรูปแบบที่พร้อมใช้งาน และไปใส่ไว้ในแรม สมมติว่าเรามีแรม 4 GB และแอปใช้พื้นที่ในแรม 800 MB เท่ากับว่าเราจะสามารถเปิดแอปพร้อมกันได้ 5 แอป จะเต็มพื้นที่แรมพอดี

เมื่อเราต้องการเปิดแอปที่ 6 รอบนี้แรมไม่มีที่สำหรับจุแอปใหม่แล้ว ตัวระบบเองจะมีการจัดระดับความสำคัญของแอป โดยแอปที่ไม่ได้ใช้เวลานานจะอยู่ในระดับต่ำสุด ระบบจะจัดการบีบอัดแอปเหล่านี้ให้มีขนาดเล็กลง สมมติให้หลังจากบีบอัดแอปแล้ว แอปจะใช้พื้นที่บนแรมแค่ 400MB หมายความว่าบีบอัดเพียง 2 แอปก็จะมีพื้นที่จุแอปที่ 6 แล้ว

สมมติระบบตั้งให้บีบอัดได้ 4 แอป เท่ากับแรมสามารถจุแอปได้ทั้งหมด 7 แอป เป็นแอปที่ถูกบีบอัด 4 แอป และแอปปกติ 3 แอป สำหรับแอปที่ถูกบีบอัด เวลาสลับไปใช้ก็จะใช้เวลานานกว่าแอปปกติ แต่มีข้อดีคือแอปจะยังค้างอยู่ในสถานะที่เปิดค้างไว้ และใช้เวลาเปิดน้อยกว่าเริ่มต้นแอปใหม่หมดครับ

ปัญหาจะมาเมื่อเราต้องการเปิดแอปที่ 8 คราวนี้พื้นที่แรมเต็มแบบจริงจังแล้วครับ ถ้าจะเปิดแอปเพิ่ม มีวิธีเดียวคือต้องเคลียร์แอปเก่าออกจากแรม หมายความว่าแอปแรกที่ถูกบีบอัดอยู่จะโดนปิดแบบถาวรแล้วรอบนี้ ตรงนี้แหละครับที่ฟีเจอร์เพิ่มแรมจะมาช่วย เมื่อมีฟีเจอร์เพิ่มพื้นที่แรม แทนที่จะต้องปิดแอปที่ถูกบีบอัดไป ก็ย้ายแอปที่ถูกบีบอัดไปวางในส่วนเพิ่มแรมแทน สมมติได้แรมเพิ่มมา 1 GB เท่ากับว่าเราสามารถย้ายแอปที่โดนบีบอัด 2 แอปไปวางได้ และเปิดแอปเพิ่มได้อีก

แม้ว่าพื้นที่เก็บข้อมูลที่เรานำมาใช้แทนแรมจะไมไ่ด้ความเร็วแบบแรมจริงๆ แต่มันถูกใช้ในการเก็บแอปที่ถูกบีบอัดเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้งานกับแอปที่ที่ทำงานอยู่บนหน้าจอปัจจุบัน ดังนั้นการใช้งานแอปที่เราใช้งานอยู่ประจำจะไม่มีผลกระทบด้านความเร็วใดๆ ครับ ส่วนการเปิดแอปที่โดนบีบอัดอยู่บนพื้นที่เก็บข้อมูลก็จะช้ากว่าที่อยู่บนแรมแน่นอน แต่ก็จะเร็วกว่าการเปิดแอปใหม่ตั้งแต่ต้นครับ ในภาพรวมคือผู้ใช้ก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าครับ