Near Field Communication (NFC) เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายระยะสั้นที่เริ่มมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าคืออะไร หลายคนใช้อยู่โดยไม่รู้ตัว วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จัก NFC ว่าคืออะไร ทำงานอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
NFC คืออะไร
Near Field Communication (NFC) เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายระยะสั้นที่ช่วยให้สามารถถ่ายโอนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองเครื่องในระยะใกล้ได้ NFC เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี RFID ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ปลอดภัยระหว่างอุปกรณ์สองเครื่อง โดยอุปกรณ์ที่มี NFC มักจะมีสัญลักษณ์ด้านล่างนี้อยู่บนตัวผลิตภัณฑ์หรือในซอฟต์แวร์
NFC ทำงานอย่างไร
เทคโนโลยี NFC อาศัยการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ทำงานที่ความถี่ 13.56 MHz เมื่อนำอุปกรณ์ที่เปิดใช้งาน NFC สองเครื่องเข้ามาใกล้กัน สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะถูกสร้างขึ้นระหว่างอุปกรณ์ทั้งสอง ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบไร้สายได้
จุดเด่นและจุดด้อยของ NFC
จุดเด่น
- สะดวกสบาย: เทคโนโลยี NFC ช่วยให้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพียงนำอุปกรณ์ที่มี NFC มาแตะกัน ก็สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ทันที
- ปลอดภัย: เทคโนโลยี NFC สามารถเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูลระหว่างการถ่ายโอนได้ นอกจากนี้ การส่งข้อมูลผ่าน NFC อุปกรณ์จำเป็นต้องอยู่ใกล้กันมากๆ ทำให้ดักข้อมูลได้ยาก
- สารพัดประโยชน์: เทคโนโลยี NFC สามารถนำไปใช้งานรูปแบบต่างๆ ได้ตั้งแต่การชำระเงินผ่านมือถือ การช่วยเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ จนถึงใช้แทนบัตรผ่านเข้าออกอาคาร
- ผสานรวมเข้ากับอุปกรณ์อื่นได้ง่าย: ชิป NFC สามารถรวมเข้ากับอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้อย่างง่ายดาย เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กล้อง ลำโพง จนถึงดาร์ดต่างๆ
- ประหยัดพลังงาน: เทคโนโลยี NFC ใช้พลังงานน้อยมากๆ ในการถ่ายโอนข้อมูล
จุดด้อย
- ระยะจำกัด: เทคโนโลยี NFC มีระยะจำกัดมากๆ ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการใช้งานบางประเภท เช่น การสื่อสารระยะไกล
- ความเร็ว: NFC ออกแบบมาให้ส่งข้อมูลขนาดเล็กเท่านั้น จึงมีความเร็วในการส่งข้อมูลที่ช้ามากๆ ในการใช้งานจริงเหมาะสำหรับส่งไฟล์ตัวอักษณและรูปภาพเท่านั้น หากต้องการส่งข้อมูลชนิดอื่นๆ จะใช้ NFC เป็นเพียงตัวช่วยในการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Bluetooth หรือ Wi-Fi เท่านั้น
การประยุกต์ใช้งาน
เทคโนโลยี NFC มีการใช้งานที่หลากหลายในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง
การชำระเงินและการทำธุรกรรม: NFC เปิดใช้งานการชำระเงินแบบไร้สัมผัสโดยใช้อุปกรณ์มือถือหรือบัตรเครดิตแตะกับเครื่องจ่ายที่รองรับ ในประเทศไทยมีการใช้งานแล้วเช่น Google Wallet, HUAWEI Wallet, บัตรเครดิตของ VISA และ Master Card
ใช้เข้าออกอาคารและบริเวณต่างๆ: สามารถใช้ NFC สำหรับการเข้าอาคาร รถยนต์ และพื้นที่หวงห้ามอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย บัตรและแท็กเข้าออกอาคารที่เราใช้กัน หลายๆ ที่ก็ใช้เทคโนโลยี NFC นี่แหละ
การแลกเปลี่ยนข้อมูล: NFC ช่วยให้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่าย เช่น รายชื่อติดต่อ รูปภาพ และเอกสาร
การขนส่งและการจองตั๋ว: สามารถใช้การ์ดหรืออุปกรณ์พกพาที่รองรับ NFC เพื่อออกตั๋วและเดินทางบนระบบขนส่งมวลชน
ช่วยในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าหากัน: อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด เช่น ลำโพงไร้สาย เครื่องพิมพ์ กล้องดิจิทัล เป็นต้น ปกติหากต้องการเชื่อมต่อไร้สายกับมือถือ มักจะมีวิธีเชื่อมต่อที่ยุ่งยาก จะต้องมีการหาชื่ออุปกรณ์ที่ตรงกัน ใส่รหัสเชื่อมต่อ เป็นต้น จึงมักจะมีการใส่ชิป NFC และเวลาเชื่อมต่อก็เพียงแค่นำมือถือมาแตะที่ชิป NFC ก็จะทำการเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติ
เปิด NFC ในมือถือทิ้งไว้ตลอดเวลา มีปัญหาอะไรหรือไม่ และเปลืองแบตเตอรี่ไหม
การเปิด NFC ไว้ตลอดเวลาเพื่อความสะดวกในการใช้งานสามารถทำได้ เพราะ NFC จะทำงานก็ต่อเมื่อเราเปิดหน้าจอมือถือเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะโดนดูดข้อมูลหรือแอบส่งข้อมูลโดยไม่รู้ตัว และ NFC ใช้พลังงานน้อยมากๆ การเปิดทิ้งไว้ทั้งวันกินไฟจากแบตเตอรี่มือถือเต็มที่เพียง 3%-4% เท่านั้นเอง แต่หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ใช้ NFC เลยก็สามารถปิดไว้ได้โดยไม่ส่งผลเสียใดๆ ในการใช้งานเช่นเดียวกัน
เทคโนโลยี NFC ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีมาอย่างยาวนาน และได้รับการใช้งานมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อระบบจ่ายเงินแบบ Cashless เริ่มเป็นเรื่องปกติในประเทศไทย การเลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่มี NFC เป็นการการันตีว่ามือถือของคุณจะรองรับเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต