สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์และโน้ตบุ้ค ปกติเราก็จะคุ้นเคยกับแรมชนิด DDR ที่มีหลากหลายเวอร์ชัน เช่น DDR3, DDR4, DDR5 เป็นต้น แต่ระยะหลังๆ เราจะเริ่มเห็นโน้ตที่เน้นความบางเบาหันมาใช้แรมชนิด LPDDR แทน มาดูกันว่าแรมชนิด DDR และ LPDDR ต่างกันอย่างไรครับ
ทำความรู้จักแรม DDR
DDR ย่อมาจาก Double Data Rate ที่มาของชื่อมาจากการส่งข้อมูลที่ปกติระบบคอมพิวเตอร์จะส่งข้อมูลตามรอบนาฬิกา หรือที่เรียกว่า Clock speed ครับ แต่ก่อนแรมจะส่งข้อมูลได้ 1 ชุดต่อรอบสัญญาณนาฬิกา แต่แรมชนิด DDR จะส่งได้ 2 ชุด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง แรม DDR เองได้รับการปรับปรุงเพิ่มความเร็วและลดการใช้พลังงานมาเรื่อยๆ ดังนี้
ชนิดของแรม | ปีที่เปิดตัว | ความเร็ว (MT/s) | การใช้พลังงาน (V) |
---|---|---|---|
DDR | 2000 | 266 – 400 | 2.5 – 2.6 |
DDR2 | 2003 | 533 – 800 | 1.8 |
DDR3 | 2007 | 800 – 2133 | 1.5 |
DDR4 | 2014 | 2133 – 3200 | 1.2 |
DDR5 | 2021 | 4800 – 6400 | 1.1 |
ทำความรู้จักแรม LPDDR
พอการมาถึงของสมาร์ทโฟนที่มีพลังงานให้ใช้อย่างจำกัด จึงมีการพัฒนาแรมชนิด LPDDR มาเพื่อใช้งาน โดย LPDDR ย่อมาจาก Low Power Double Data Rate แปลกันอย่างตรงตัวคือเป็นแรมชนิด DDR ที่ใช้พลังงานน้อยกว่านั่นเอง โดยด้านความเร็วอาจจะต่ำกว่าแรม DDR บ้างเล็กน้อย แต่ใช้พลังงานน้อยกว่าพอสมควร ในปัจจุบันแรมชนิด LPDDR ไม่ได้อยู่แค่บนอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตเท่านั้น แต่โน้ตบุ้คที่ออกแบบมาเน้นบางเบาก็หันมาใช้แรมชนิดนี้เหมือนกัน
ชนิดของแรม | ปีที่เปิดตัว | ความเร็ว (MT/s) | การใช้พลังงาน (V) |
---|---|---|---|
LPDDR | 2000 | 200 – 400 | 1.8 |
LPDDR2 | 2009 | 800 – 1066 | 1.2 |
LPDDR3 | 2012 | 1600 – 2133 | 1.2 |
LPDDR4 | 2014 | 3200 – 4266 | 1.1 |
LPDDR4X | 2017 | 4266 | 0.6 |
LPDDR5 | 2021 | 6400 | 0.3 |
LPDDR5X | 2022 | 8533 | 0.3 |
แต่แรมชนิด LPDDR ก็มีจุดด้อยอยู่เหมือนกันคือมีราคาที่สูงกว่า และจะเป็นชิปแบบฝั่งลงบอร์ด ไม่สามารถอัปเกรดได้ครับ