เดิมทีนั้น ZenFone ใน Generation แรกเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสมาร์ทโฟนที่ใช้งานทั่ว ๆ ไปในราคาประหยัด จึงเป็นสมาร์ทโฟนที่มีราคาไม่สูงมากแต่มีสเปคที่เพียงพอต่อการใช้งาน โดย Generation ที่ 2 นั้น ASUS ได้เริ่มสร้างจุดเด่นให้กับตระกูล ZenFone ด้วยการเน้นคุณสมบัติในเรื่องการถ่ายภาพ แต่ยังคงราคาที่ย่อมเยาไว้ และยังมี ZenFone 2 Deluxe ที่เพิ่มสเปคให้ดีขึ้นและปรับปรุงดีไซน์ข้างหลังให้ดูดีกว่าของเดิม จนมาใน Generation ที่ 3 นั้น ASUS ได้ทำการยกเครื่องใหม่ขึ้นไปอีกระดับทั้งในด้านดีไซน์ ประสิทธิภาพ และราคา
ในงาน Computex 2016 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ASUS ได้ทำการเปิดตัว ZenFone 3 ออกมา 3 ซีรี่ส์ ได้แก่ ZenFone 3 Deluxe คือรุ่นท็อปสุดในซีรีส์ จัดเต็มทั้งในด้านสเปคและเทคโนโลยี, ZenFone 3 ที่เป็นโมเดลหลักในซีรีส์นี้ มาพร้อมดีไซน์ที่พรีเมี่ยมกับประสิทธิภาพที่คุ้มราคา และ ZenFone 3 Ultra สมาร์ทโฟนที่ถูกออกแบบมาเพื่อความบันเทิง มาพร้อมจอแสดงผลที่มีขนาดใหญ่ถึง 6.8 นิ้ว ซึ่งผ่านไปไม่นานนัก ASUS ก็ได้ทำการปล่อยของเพิ่ม นั่นก็คือ ZenFone 3 Max และ ZenFone 3 Laser ที่มาในราคาต่ำกว่า 10,000 บาทแต่ยกระดับวัสดุและประสิทธิภาพให้สูงขึ้น พร้อมทั้งปล่อย ZenFone 3 รุ่นจอ 5.2 นิ้วและ ZenFone 3 Deluxe ที่อัพเกรดสเปคในบางจุดให้สูงขึ้น ทำให้ตอนนี้ตระกูล ZenFone 3 นั้นมีสมาชิกรวมกันทั้งหมดถึง 7 รุ่นเข้าไปแล้ว และรุ่นที่ผมจะพูดถึงในรีวิวนี้ก็คือ ZenFone 3 จอ 5.2 นิ้ว (ZE552KL)
Specifications
- มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 6.0 Marshmallow ครอบทับด้วย ASUS ZenUI 3.0
- จอ LCD ขนาด 5.2 นิ้ว มีความละเอียด 1080×1920 พิกเซลหรือ Full HD
- หน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 625
- หน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 506
- Ram 3GB และ หน่วยความจำ 32GB
- กล้องหลัง 16 ล้านพิกเซล, f/2.0, TriTech Autofocus, Dual tone LED flash มาพร้อม OIS 4 แกนและ EIS 3 แกน สามารถบันทึกวิดีโอที่ความละเอียด 4K ได้
- กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล มุมกว้าง 84 องศา
- มีระบบสแกนลายนิ้วมือ
- รองรับ Hi-Res Audio
- รองรับ 2 ซิม ช่องแรกเป็น Micro SIM (4G) ช่องที่ 2 เป็น Nano SIM (3G) หรือจะเลือกใส่ Micro SD ก็ได้
- Bluetooth 4.2
- Type-C USB 2.0
- แบตเตอรี่ความจุ 2,650 mAh
- ราคา 11,990 บาท
***เครื่องที่ผมได้มารีวิวนั้นจะมี Ram 3.5 GB หน่วยความจำ 64 GB ซึ่งต่างจากเครื่องที่วางขายจริงครับ***
Unbox
ตัวกล่องเปลี่ยนไปจากเดิมที่แต่เดิมนั้นจะเป็นรูปผลิตภัณฑ์แปะอยู่บนกล่องแล้วเขียนชื่อรุ่นเอาไว้ แต่กล่องของ ZenFone 3 นั้นถูกปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่โดยใช้กล่องกระดาษแข็งสีดำและใช้ตัวอักษรชื่อรุ่นเป็นสีทอง ตัวกล่องมาในแบบมินิมอลแต่ก็ดูเรียบหรู
ส่วนด้านขอบตรงที่เปิดจะมีปั้มคำว่า ASUS เอาไว้ด้วย
อุปกรณ์ที่แถมมากับตัวเครื่องก็จะมี Adapter 5V 2A, สาย USB Type-C, หูฟังพร้อมจุกขนาดต่าง ๆ กันและก็เข็มจิ้มถาดใส่ซิม
เข็มจิ้มถาดใส่ซิมมีคำว่า ASUS สกรีนติดไว้ด้วย ส่วนตัวชอบมากเพราะมีการใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย
Materials & Design
ZenFone 3 นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านดีไซน์ในบางจุดจาก Zenfone 2 คือจากเดิมปุ่ม Volume จะอยู่บริเวณข้างหลังเครื่องและปุ่ม Power จะอยู่ด้านบน แต่มาใน ZenFone 3 นั้นได้ย้ายปุ่ม Volume และ Power มาไว้ทางด้านขวาของเครื่องและนำตัวสแกนลายนิ้วมือไปแทนตำแหน่งของปุ่ม Volume ส่วนตำแหน่งของกล้อง แฟลชและเลเซอร์นั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม
วัสดุของตัวเครื่องนั้นเปลี่ยนมาใช้กระจก Gorilla Glass 3 แบบโค้งมน 2.5 D ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขอบเครื่องเป็นอลูมิเนียมอัลลอยโดยที่ด้านหลังเวลาสะท้อนแสงนั้นก็ให้ลวดลายที่คล้ายโลหะอยู่เหมือนกัน
พลิกมาด้านหน้าก็จะพบกับปุ่มสัมผัสหน้าตาคุ้นเคย ซึ่งมาจนถึงรุ่นที่ 3 แล้วก็ยังคงไม่มีไฟเหมือนเดิม ส่วนด้านบนจะมีลำโพงสนทนา กล้องหน้า และไฟแจ้งเตือน
ด้านหลังจะมีเลเซอร์ กล้อง แฟลช และที่สแกนลายนิ้วมือ
ด้านบนของตัวเครื่องจะมีพอร์ตหูฟังแบบ 3.5 มม. และไมโครโฟน
ด้านล่างไล่จากซ้ายไปขวามีช่องไมโครโฟน พอร์ต USB Type-C และลำโพง
ด้านขวามีปุ่ม Power และปุ่ม Volume
ด้านซ้ายจะเป็นที่ใส่ซิมการ์ดกับ SD การ์ด
โดยรวมแล้วงานประกอบถือว่าดีใช้ได้ จับถนัดมือ คำว่า ASUS พอมาอยู่บนบอดี้ที่เป็นกระจกแล้วดูดีอยู่ไม่น้อย ด้านหลังค่อนข้างเห็นรอยนิ้วมือยากเหมือนกันเมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุเป็นกระจก แต่ก็มีข้อติ 2-3 อย่างคือ
- ปุ่ม Power กับปุ่ม Volume นั้นสามารถโยกไปมาได้เล็กน้อย
- ตัวกล้องนูนออกมาจากข้างหลังอย่างเห็นได้ชัด
- ปุ่มสัมผัสควรจะมีไฟมาให้ได้แล้ว
Software
ZenFone 3 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 (Marshmallow) ครอบทับด้วย ZenUI 3.0 ที่มีการปรับปรุงในหลาย ๆ จุดให้ดีขึ้น โดยรวมแล้วใช้งานได้ลื่นไหลมากกว่ารุ่นก่อน ๆ เปิดแอพเข้าออกแอพต่าง ๆ ได้รวดเร็วและ Animation เคลื่อนไหวทำออกมาได้สมูทมากขึ้น (***เครื่องที่ได้มาทดสอบนั้นให้ Ram มา 3.5 GB ในขณะที่รุ่นจอ 5.2 นิ้วขายจริงจะให้มา 3 GB*** )
แถบ Notification Bar ทำออกมาได้ดีและใช้งานสะดวกกว่าที่คิดเอาไว้ เมื่อลากลงมาหนึ่งครั้งจะโชว์การแจ้งเตือนต่าง ๆ และเมื่อลากต่อลงมาอีกหนึ่งทีก็จะเป็นการตั้งค่าเบื้องต้นเช่นเชื่อมต่อ WiFi, ปิดเสียง หรือเรียกใช้งานเครื่องคิดเลข เป็นต้น ซึ่งเราสามารถปรับแต่งในส่วนนี้ได้ด้วยการกดไอคอนรูปกระดาษโน้ตกับดินสอหรือจะเข้าไปในเมนู Setting ของเครื่องได้ด้วยการกดไอคอนรูปฟันเฟือง
พื้นที่ของระบบถูกใช้ไปแล้ว 11.34 GB ซึ่งก็มีแอพที่ทาง ASUS ได้ทำการพรีโหลดเอาไว้ในเครื่องมาแล้วจำนวนนึง ซึ่งสำหรับเครื่องที่ขายจริงนั้นรุ่นจอ 5.2 นิ้วจะมีความจุอยู่ที่ 32 GB ลองไปบวกลบดูเอาครับ
ระบบ Gesture ที่ให้มานั้นก็ค่อนข้างเยอะระดับนึง ตัวอย่างเช่น แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อปลุกเครื่องหรือดับจอ วาดรูปตัวอักษรบนจอเพื่อเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เครื่องกำหนดไว้ ใช้ที่สแกนลายนิ้วมือเปิดกล้อง พลิกเครื่องเพื่อปิดเสียงแจ้งเตือน เป็นต้น
ขอเพิ่มเติมเรื่องการ Capture หน้าจอมารวมไว้ในหัวข้อนี้ด้วย เนื่องจากผมพึ่งรู้ว่า ZenFone สามารถแคปภาพหน้าจอได้ด้วยการสัมผัสปุ่ม Recent App ค้างเอาไว้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่สะดวกมาก ๆ ในการแคปภาพหน้าจอโดยที่ไม่ต้องพยายามทำท่าทางแปลก ๆ เพื่อแคปภาพ
และสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือ Game Genie ซึ่งเป็นแอพที่ทำขึ้นมาสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถใช้แอพนี้เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องขณะที่เล่นเกมและยังบันทึกวิดีโอพร้อมกับการสตรีมมิ่งเกมในขณะที่เราเล่นได้ด้วย (ผ่านทาง YouTube กับ Twitch ) ซึ่งในระหว่างที่ทำการสตรีมมิ่งไปด้วยระหว่างเล่นนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของเครื่องในขณะที่เล่นแต่อย่างใดและคุณภาพวิดีโอที่ได้ออกมานั้นก็มีความคมชัดและให้ภาพที่ลื่นไหลอีกด้วย (สามารถดูวิดีโอที่ผมลองสตรีมมิ่งได้ตามลิ้งก์นี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=GGdYm4A7nVs )
ส่วนระบบการจัดการไฟล์ การเคลียร์แรมและการตรึงแอพนั้นผมจะขอไม่พูดถึงส่วนนี้นะครับ เพราะเครื่องที่ได้มานั้นดูเหมือนจะยังทำระบบตรงนี้มาไม่ค่อยสมบูรณ์นัก พอเปิดใช้งานการตรึงแอพเครื่องก็รีสตาร์ทไปเองดื้อ ๆ หวังว่าเครื่องที่ขายจริงจะไม่พบปัญหานี้
Fingerprint
ตำแหน่งที่สแกนลายนิ้วมือนั้นอยู่ข้างหลังกึ่งกลางเครื่องพอดี ทำให้สามารถถือสแกนนิ้วได้ทั้งมือซ้ายและมือขวาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสามารถสแกนเพื่อใช้งานเครื่องได้โดยที่ไม่ต้องกดปุ่ม Power แค่เอานิ้วทาบลงไปก็จะปลดล็อคเครื่องใช้งานได้ทันที
การสแกนนิ้วทำได้ค่อนข้างเร็วและติดง่าย ไม่ว่าจะวางนิ้วจากมุมไหนเครื่องก็ยังคงอ่านลายนิ้วมือได้ปกติ และข้อดีอีกอย่างนึงคือถ้านิ้วมีความชื้นไม่มากจนเกินไปก็ยังสามารถสแกนได้ นอกจากนี้แล้วยังสามารถตั้งให้เป็นคีย์ลัดสำหรับรับสายโทรศัพท์ เปิดกล้อง และถ่ายภาพได้อีกด้วย สามารถเก็บลายนิ้วมือได้สูงสุดถึง 5 ลายนิ้วมือ
Performance
Snapdragon 625 ทำงานได้ดีกว่าที่คิดเอาไว้ การใช้งานโดยทั่วไปนั้นถือว่าทำได้ดีเยี่ยม ประมวลผลภาพถ่ายได้ไวพอสมควร และยังเล่นเกมกราฟิกหนัก ๆ บางเกมได้ดีมาก (ลองเล่นเกม Unpossible แบบปรับ High ตามที่ผมแปะลิ้งก์ไว้ในหัวข้อ Software ได้สบาย ๆ ซึ่งสมาร์ทโฟนเรือธงที่ใช้ CPU Snapdragon 801 ที่ผมเคยใช้นั้นไม่สามารถเล่นเกมนี้แบบปรับ High ได้) ส่วนเกมแข่งรถอย่าง Asphalt 8 นั้นก็สามารถเล่นได้อย่างลื่นไหลไม่มีกระตุก ส่วนความร้อนที่เกิดจากการใช้งานหนักก็มีบ้างแต่ก็ไม่มากจนเป็นปัญหาครับ แค่รู้สึกอุ่น ๆ แค่นั้น (ส่วนใหญ่จะเป็นตอนที่เปิดกล้องไว้นานมากจริง ๆ)
( ลองอ่านบทความนี้เพิ่มเติมครับ ลบภาพ Snapdragon 600 series ตัวเก่าให้หมด เพราะเดี๋ยวนี้เร็วพอกับ 800 series แล้ว )
Network
ในส่วนนี้ผมยังไม่ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับสัญญาณ 4G หรือ 3G นะครับ เนื่องจากผมไม่มี Micro Sim แต่ได้ทดลองระยะห่างการจับ WiFi ดูแล้วพบว่ารับสัญญาณได้ไกลจากจากเราท์เตอร์มากพอสมควรเมื่อเทียบกับ Xperia X Performance ที่ผมใช้อยู่ ส่วนเรื่อง GPS ยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก บางทีเดินเล่น Pokémon Go แต่ในจอมันกลับวิ่งวนอยู่ที่เดิมซะงั้น
Display
จอของ ZenFone 3 นั้นเป็นจอ Super IPS+ ความละเอียด Full HD มี Resolution อยู่ที่ 1920×1080 พิกเซล มีความสว่างสุงสุดอยู่ที่ 600 Nits ซึ่งสามารถสู้กับแสงแดดกลางแจ้งได้เป็นอย่างดี รายละเอียดภาพที่ได้ค่อนข้างคมชัดแต่เรื่องของสีสันยังทำได้ไม่ดีนัก สีที่ได้ออกหม่น ๆ ซีด ๆ แต่ก็ไม่ได้เพี้ยนมากจนเกินไป ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ภาพออกมาโทนไหนได้ตามนี้ครับ
(ตอนแรกว่าจะโชว์ให้เห็นความแตกต่างของแต่ละโหมด แต่ลองแคปหน้าจอไปดูในคอมพิวเตอร์แล้วภาพที่ได้ไม่ต่างกัน คาดว่าน่าจะเป็นการตั้งค่าที่ตัวเครื่องโดยเฉพาะ)
Sound
เรื่องเสียงก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ ZenFone 3 ทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว สำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊คของ ASUS ก็น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า SonicMaster กันมาบ้างแล้ว ซึ่งพอจับมาอยู่ในสมาร์ทโฟนแล้วก็ทำงานได้เป็นอย่างดี เสียงที่ได้มีคุณภาพใช้ได้ เสียงใส คมชัดและเมื่อเร่งเสียงให้ดังสุดก็ยังคงคุณภาพของเสียงเอาไว้ได้ดี และจุดเด่นอีกข้อนึงก็คือรองรับไฟล์เสียงระดับมาตรฐาน Hi-Res Audio ซึ่งผมทดลองฟังเพลงบรรเลงไฟล์ FLAC ที่ทาง ASUS ส่งมาให้ด้วยหูฟัง SONY MDR-EX750AP ก็พบว่ารายละเอียดเสียงที่ได้นั้นมีความคมชัดและมีมิติที่ดี แต่ในเรื่องเสียงดนตรี background นั้นยังคงเก็บรายละเอียดได้ไม่ดีเท่าพวกสมาร์ทโฟนตระกูล Xperia แต่ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันมาก
Camera
ขออนุญาติเล่าเท้าความกลับไปเมื่อสมัยราว ๆ 3-4 ปีที่แล้ว ที่สมาร์ทโฟนระดับเรือธงของแต่ละค่ายอยู่ในช่วงพยายามพัฒนาสมาร์ทโฟนของตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งคุณภาพของภาพจากกล้องสมาร์ทโฟนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ดีอะไรมาก ยิ่งสมาร์ทโฟนระดับราคาหลักพันปลาย ๆ ถึงหมื่นต้น ๆ เรียกได้ว่าเอาไว้สำหรับใช้งานธรรมดา ๆ ทั่วไปแค่นั้น จนเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันเมื่อผมได้มาเขียนรีวิวเจ้า ZenFone 3 เครื่องนี้ที่มีราคาอยู่ในช่วงหมื่นต้น ๆ ก็มีความรู้สึกทึ่งปนรู้สึกดีขึ้นมาว่าสมาร์ทโฟนที่กล้องดีลูกเล่นเยอะนั้นสามารถพบได้ในช่วงราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไปแล้วในปัจจุบัน
กล้องของ ZenFone 3 มีความละเอียดอยู่ที่ 16 ล้านพิกเซล ใช้เซนเซอร์ Sony Exmor RS IMX298 จับคู่กับระบบถ่ายภาพ ASUS PixelMaster 3.0 ที่จัดเต็มทั้งในด้านการโฟกัส การประมวลผลภาพ และการป้องกันการสั่นไหว ซึ่งความสามารถระดับนี้ในสมาร์ทโฟนราคาหมื่นต้น ๆ ผมมองว่าเป็นอะไรที่ดีมาก การโฟกัสและการบันทึกภาพก็ทำได้อย่างรวดเร็ว
โหมดต่าง ๆ ที่อยู่ในกล้องหลังของ ZenFone 3
เพื่อไม่ให้รีวิวนี้ยาวเกินไป ผมขอยกตัวอย่างลูกเล่นที่เจ๋ง ๆ ใช้งานได้จริงมาให้ดู 2 โหมดนะครับ
โหมดความละเอียดพิเศษ (64 ล้านพิกเซล)
โหมดลบแบบสมาร์ท (ลบวัตถุที่เคลื่อนไหวในภาพให้เหลือแต่ฉากหลัง)
โดยรวมแล้วผมค่อนข้างประทับใจภาพที่ได้จากโหมดอัตโนมัตินะ แต่ก็มีบางจุดที่พบว่ายังทำได้ไม่ค่อยดีนั่นก็คือในที่มืดมีการปรับ Exposure เพี้ยนในบางครั้ง และในที่แสงจ้าภาพที่ได้สีค่อนข้างเพี้ยนไปจากที่ตาเห็น แต่สิ่งเหล่านี้สามารถชดเฉยได้ด้วยการใช้โหมด Manual ที่สามารถปรับค่าต่าง ๆ ได้ค่อนข้างละเอียดมากพอสมควร
หน้าตาของโหมด Manual
และอีกความสามารถนึงที่จะขอพูดถึงก็คือ ZenFone 3 สามารถปรับสปีดชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 1/50000 ถึง 32 วินาทีเลยทีเดียว !!!
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยสปีดชัตเตอร์สูง
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยสปีดชัตเตอร์ต่ำ
.
.
และข้างล่างนี้จะเป็นตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยโหมด Auto ซึ่งไม่ได้ผ่านการปรับแต่งจากแอพใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
.
.
สำหรับกล้องหน้านั้นให้ภาพที่ค่อนข้างเนียนพอสมควรครับและยังสามารถปรับแต่งได้เยอะ เป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบเซลฟี่เหมือนกัน
สามารถลากปุ่มชัตเตอร์เพื่อนับเวลาถอยหลังได้ ไม่ต้องเข้าไปตั้งค่าให้เสียเวลา
ตัวอย่างภาพจากกล้องหน้าถ่ายในที่สว่าง
ตัวอย่างภาพจากกล้องหน้าถ่ายในที่มืด
สำหรับการถ่ายวิดีโอนั้นผมได้ลองทำคลิปตัวอย่างตามด้านล่างนี้ครับ
Battery
ทำการทดสอบโดยการต่อ WiFi เอาไว้เกือบตลอดเวลา เปิด GPS เช็คโซเชียลทุก ๆ ชั่วโมง เล่นเกมบ้างนิดหน่อย และก็เน้นถ่ายรูปเป็นหลัก แบตเตอรี่สามารถอยู่ได้เกิน 2 วันซึ่งถ้าใช้ตามปกติทั่วไปในชีวิตจริงก็น่าจะสามารถอยู่ได้ครบวันครับ เนื่องจากผมเน้นเอามาทำรีวิวเลยไม่ได้ใช้เหมือนเวลาใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันซักเท่าไหร่ ส่วนการชาร์จแบตนั้นก็ค่อนข้างเร็วอยู่เหมือนกันแต่ก็ไม่เท่ากับพวกรุ่นที่ใช้ระบบ Quick Charge
Overall
ราคาค่าตัวของ ASUS ZenFone 3 จอ 5.2 นิ้วอยู่ที่ 11,990 บาท ซึ่งผมมองว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่คุ้มค่ามาก ๆ รุ่นนึง ตัวบอดี้มีความสวยงาม ใช้งานทั่วไปได้ดี เล่นเกมลื่น ๆ กล้องมีลูกเล่นเยอะ และคุณภาพเสียงที่ดีสำหรับคนทั่วไป จะมีข้อติบ้างก็ตรงซอฟต์แวร์ที่พยายามยัดบางสิ่งบางอย่างเข้ามาจนรกเกิน ตอนแกะกล่องออกมาผมต้องกดข้ามไป 10 กว่าหน้าจนกว่าจะได้เข้าหน้า Homescreen ได้และแอพหลายตัวที่ให้มาก็เกินความจำเป็น แต่ก็ขอชื่นชมที่มีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านดีขึ้นจากรุ่นก่อนหน้านี้ ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่เน้นว่าต้องใช้สมาร์ทโฟนแบรนด์ดัง ๆ ราคาแพง ๆ หรือเป็นคนที่เน้นใช้งานได้รอบด้านและงบประมาณไม่ได้เยอะมากแล้วหล่ะก็ ZenFone 3 ก็เป็นตัวเลือกที่ดีอีกรุ่นนึงครับ…
…แต่ถ้าคุณไม่มีปัญหาอะไรที่จะเพิ่มเงินขึ้นจากเดิมไปอีก 3,000 บาทหล่ะก็ ผมแนะนำให้ขยับไปเล่น ZenFone 3 รุ่นจอ 5.5 นิ้วเพราะจะได้ขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นมาอีกระดับและได้ RAM เพิ่มขึ้นมาเป็น 4 GB และหน่วยความจำเพิ่มขึ้นมาเป็น 64 GB ซึ่งดูแล้วก็คุ้มค่ากับที่เพิ่มเงินขึ้นมาเหมือนกันครับ